“นฤมล” รัฐมนตรีเกษตรฯ เผย มติ ล่าสุด ปรับเงินช่วยชาวนาใหม่ เป็น ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ชี้หากปรับเหลือไร่ละ 500 บาท จะกระทบเกษตรกรรายย่อยที่มีที่นาน้อย เตรียมชง นบข. 25 พ.ย.นี้ พร้อมพิจารณาเพิ่มกรอบวงเงินเพิ่มเติม 38,578 ล้านบาท
กรณีมติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตครั้งที่ 1/2567 มีความเห็นให้ปรับเปลี่ยนเป็นสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าว อัตราช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินรวมดอกเบี้ย 3.05% จำนวน 27,550.96 ล้านบาท เสนอ นบข.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นั้น
ล่าสุดศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ทางกระทรวงฯ ได้รับข้อเรียกร้องจากเกษตรจำนวนมาก ให้พิจารณาถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยของไทยส่วนใหญ่มีที่ดินไม่เกิน 10 ไร่ เงินช่วยเหลืออาจจะไม่เพียงพอ ทำให้ต้องนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง จึงได้ข้อสรุปว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายนนี้ คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ที่มีศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน จะเสนอการช่วยเหลือชาวนาในโครงการช่วยสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าวเป็น 1,000 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่
โดย ข้อสรุปดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง เพราะหากช่วยเหลือ 1,000 บาทต่อไร่ตามเดิม เกษตรกรรายย่อยที่มีที่นาเพียง 5 ไร่ ก็ยังจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อครัวเรือน แต่หากปรับมาเหลือ 500 บาทต่อไร่ จะได้รับการช่วยเหลือเพียง 2,500 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือชาวนาในโครงการช่วยสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าวเป็น 1,000 บาทต่อไร่ จะต้องใช้งบประมาณ 38,578 ล้านบาท มากกว่าเดิมที่มีกรอบวงเงินอยู่ 29,980.1645 ล้านบาท ซึ่งประเด็นนี้ จะต้องมีการขอความเห็นจาก นบข.อีกครั้ง
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ กรมการข้าวมีการเสนอจ่ายเงินช่วยชาวนา 3 กรณี
- กรณีที่ 1 :จ่าย 500 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ วงเงินรวมดอกเบี้ย 3.05% จำนวน 19,300.60 ล้านบานบาท
- กรณีที่ 2 :จ่าย 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินรวมดอกเบี้ย 3.05% จำนวน 27,550.96 ล้านบาท เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐ และเป็นไปตามฤดูกาลการผลิตข้าวซึ่งอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ในต้นปีการผลิต2568/2569 จะได้เสนอการสนับสนมค่าปัจจัยการผลิตข้าวต่อไป (วงเงินคงเหลือจำนวน 2,429.2045 ล้านบาท จะได้ไปดำเนินมาตรการเพิ่มระดับผลิตภาพ (Productivity)
- กรณีที่ 3 : จ่าย 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ วงเงินรวมดอกเบี้ย 3.05% จำนวนวน 38,578.19 ล้านบาท
ข่าวจาก : ฐานเศรษฐกิจ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ