วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ที่อาคารประชาอารักษ์ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท., พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.2 บก.ป., พ.ต.อ.เอกสิทธิ์ ปานสีทา ผกก.4 บก.ป.
แถลงผลเปิดปฏิบัติการ “CIB ขยี้มังกรเทา” นำกำลังเข้าตรวจค้นในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จำนวน 11 จุด จับกุม น.ส.จิรพรรณ ประกอบกิจ อายุ 30 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 5692/2567 ลง 25 พ.ย. 67 และผู้ร่วมขบวนการจำนวน 14 ราย เป็นชายไทย 1 ราย, ชาวจีน 5 ราย และชาวพม่าอีก 8 ราย ตามหมายจับศาลอาญาข้อหา “ร่วมกันทำ มีใช้ นำเข้า นำออกหรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต, ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต”
พร้อมของกลางเครื่อง GSM Gateway หรือ SIM box จำนวน 642 เครื่อง, คอมพิวเตอร์ 72 เครื่อง, โทรศัพท์มือถือ 1,455 เครื่อง, Sim card 590,000 ชิ้น, เครื่องอ่านซิมการ์ด 47 อัน, สมุดบัญชีธนาคาร 6 เล่ม, สัญญาเช่า 1 ฉบับ, PCI Card และแผงวงจร 10 ตัว, External Storage 1 เครื่อง และจาน Antenna 1 จาน รวม 592,235 รายการ
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจกองปราบปรามได้กวาดล้างเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 14 จุด ใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ สามารถตรวจยึดเครื่อง SIM Box จำนวน 96 เครื่อง, Starlink 4 เครื่อง, ซิมการ์ด 22,830 ชิ้น จากนั้นได้ขยายผลจนทราบว่า น.ส.จิรพรรณ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาสถานที่ ชำระค่าอุปโภคบริโภคต่างๆ รวมถึงเป็นผู้ดูแลการติดตั้งอุปกรณ์ SIM box และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 11 จุด
จากการตรวจสอบพบว่ามีชาวจีนสามี น.ส.จิรพรรณ เป็นหัวหน้าแก๊ง จึงขออนุมัติศาลออกหมายค้นและหมายจับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะเปิดปฏิบัติการเข้าตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 11 จุด คือ ในพื้นที่ อ.เมืองเชียงใหม่ 1 จุด อ.สันทราย 5 จุด อ.สันกำแพง 5 จุด จับกุมผู้ต้องหาพร้อมยึดของกลางได้ดังกล่าว
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่อว่า จากการสืบสวนทราบว่ากลุ่มแก๊งดังกล่าว มีการใช้อุปกรณ์ SIM box ในการประกอบธุรกิจสร้างบัญชีโซเชียลมีเดียปลอมสำหรับขายให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และกลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดรูปแบบต่างๆ โดยใช้อุปกรณ์ SIM box ส่งข้อความผ่านระบบเพื่อยืนยันตัวตน เมื่อได้รับข้อความตอบกลับ (OTP) ผู้ต้องหาจะใช้รหัส OTP ดังกล่าวไปโพสต์ขายในกลุ่ม ในราคา OTP ละ 1 หยวน หรือประมาณ 5 บาท
หลังจากนั้น เมื่อนำ OTP มาสร้างตัวตนหรือบัญชีโซเชียลมีเดียปลอมแล้ว จะใช้อุปกรณ์ที่ดัดแปลงสภาพประกอบกับตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของอัลกอริทึมในระบบรักษาความปลอดภัยทางโซเชียลมีเดีย ทำให้ระบบเข้าใจว่าบัญชีดังกล่าวเป็นผู้ใช้จริง เพื่อให้ผู้ต้องหาสามารถจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้น
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวด้วยว่า จากการสอบสวน น.ส.จิรพรรณ ให้การภาคเสธอ้างว่า สามีชาวจีนเป็นผู้ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มา โดยให้ตนเป็นคนเช่าบ้านและจ่ายค่าสาธารณูปโภคเท่านั้น ส่วนผู้ต้องหารายอื่นๆ ทำหน้าที่เฝ้าบ้านเช่าที่ตั้งอุปกรณ์ SIM box เท่านั้น จึงนำตัวผู้ต้องหาและของกลางส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ป. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
“สำหรับการปฏิบัติการดังกล่าว ถือว่าเป็นการตรวจยึดซิมบ๊อกซ์และซิมการ์ดมากที่สุดในประเทศไทย เป็นการป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ให้หลอกลวงพี่น้องประชาชนซึ่งมูลค่าความเสียหายนับหมื่นล้านต่อปี หากเราจับกุม SIM box ได้เหมือนเป็นการตัดช่องทางพวกอาชญากรรมออนไลน์ได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้เร่งติดตามจับกุมนายทุนจีนที่อยู่ระหว่างหลบหนีมาดำเนินคดีต่อไป” ผบช.ก.กล่าว
นอกจากนี้ยังเชื่อว่ากลุ่มผู้ต้องหายังมีการใช้ SIM box ในการกระทำความผิดอื่นๆ ซึ่งจะได้ตรวจสอบเพิ่มเติมโดยละเอียดต่อไป
ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ