30 พฤศจิกายน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หน่วยบริการนวัตกรรมทั้ง 7 ประเภท ที่เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน “30 บาทรักษาทุกที่” เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล อีกทั้งยังเพิ่มความสะดวกของประชาชนในการเข้ารับบริการใกล้บ้าน ลดเวลาการเดินทางและลดค่าใช้จ่ายของประชาชน จนถึงวันนี้ได้ดำเนินการครอบคลุม 46 จังหวัดแล้ว และเตรียมที่จะขยายครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยบริการนวัตกรรมทั้งร้านยาและคลินิกเอกชนต่างๆ ร่วมขึ้นทะเบียนกับ สปสช. แล้วเป็นจำนวน 12,325 แห่ง (ข้อมูล ณ 26 พ.ย. 2567)
“ที่ผ่านมา ระบบการจ่ายชดเชยค่าบริการนวัตกรรม ตามอัตราที่ สปสช. กำหนดจ่าย และการโอนเงินค่าบริการภายใน 3 วันหลังส่งบันทึกการเบิก เป็นที่ยอมรับของหน่วยบริการนวัตกรรมทำให้มีหน่วยเอกชนสมัครเข้าร่วมมากขึ้น อย่างไรก็ดีระบบการโอนจ่ายเงินทุก 3 วันดังกล่าว ทำให้มีข้อมูลคงค้างสะสมจากการตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทุกวัน ดังนั้นปีงบประมาณ 2568 สปสช. ได้ปรับเวลาการจ่ายชดเชยให้กับหน่วยบริการนวัตกรรมเป็นการจ่ายทุกวันพุธแทน เพื่อให้มีระยะเวลาตรวจสอบได้ทัน และเพื่อให้การเบิกจ่ายที่ติดปัญหาถูกแก้ไขโดยเร็ว พร้อมกันนี้ได้มอบให้ สปสช. เขตเป็นจุดประสานงานรองรับการติดต่อสอบถามข้อสงสัยให้กับหน่วยบริการ นอกจากนี้ สปสช.ส่วนกลาง จะมี Live สดทาง Facebook สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกวันศุกร์ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ แก้ไขปัญหาอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาของหน่วยบริการนวัตกรรมเพิ่มเติม” ทพ.อรรถพร กล่าว
สำหรับจุดเน้นของการขับเคลื่อนหน่วยบริการนวัตกรรมปี 2568 ยังคงเน้นสนับสนุนนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ในรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มเติม ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการสุขภาพให้กับประชาชน โดยเน้นบริการเชิงรุกในชุมชน ในโรงเรียน บริการเคลื่อนที่และบริการการแพทย์ทางไกลผ่านตู้ห่วงใยและโทรศัพท์มือถือจากที่บ้าน รวมถึงการควบคุมกำกับคุณภาพและมาตรฐานบริการของหน่วยนวัตกรรม โดยเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2567 ได้มีจัดประชุมชี้แจง สปสช. ทั้ง 13 เขต เพื่อให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน
ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของงบดำเนินการหน่วยบริการนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2568 สปสช. จัดสรรงบบริการ จำนวน 2,180.23 ล้านบาท เป็นค่าบริการสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิ ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้จัดสรรเป็นค่าบริการสำหรับหน่วยบริการนวัตกรรมจำนวน 1,521.61 ล้านบาท แยกเป็นงบประมาณตามประเภทหน่วยบริการนวัตกรรม ดังนี้ 1.คลินิกการพยาบาล จำนวน 509.36 ล้านบาท 2.ร้านยา จำนวน 492 ล้านบาท 3.คลินิกเทคนิคการแพทย์ จำนวน 289.15 ล้านบาท 4.คลินิกทันตกรรม ทันตกรรมเคลื่อนที่ จำนวน 101.37 ล้านบาท 5.คลินิกเวชกรรม จำนวน 77 ล้านบาท 6.คลินิกกายภาพบำบัด จำนวน 41.45 ล้านบาท และ 7.คลินิกแพทย์แผนไทยจำนวน 11.29 ล้านบาท
“งบประมาณที่จัดสรรเพิ่มขึ้นมาในปีนี้ มุ่งเน้นการรองรับการเข้ารับบริการของประชาชน ที่หน่วยบริการนวัตกรรม โดยคำนวณจากการเข้ารับบริการในปีที่ผ่านมาและกำหนดเป้าหมายกการเข้ารับบริการที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างความมั่นใจว่า งบประมาณในส่วนนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนในการใช้สิทธิบัตรทองใกล้บ้านได้เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา” ภก.คณิตศักดิ์ กล่าว
ด้าน นางปิยพร ปิยะจันทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค กล่าวว่า การจัดประชุมชี้แจงให้ สปสช. เขตพื้นที่รับทราบทิศทางการขับเคลื่อนที่ผ่านมานี้ เพื่อส่งเสริมให้ สปสช.เขต ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเชิญชวนและขึ้นทะเบียนสถานบริการให้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ขาดแคลนหรือมีความแออัดของโรงพยาบาล และยังต้องเป็นพี่เลี้ยงคอยติดตามการให้บริการประชาชน และการเบิกจ่ายค่าบริการที่ถูกต้อง ครบถ้วน ซึ่งได้กำชับกับ สปสช. ทั้ง 13 เขต ในการประชุมชี้แจงที่ผ่านมา
อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4929496
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ