“ทรู-ดีแทค” ควบรวม 2 ปี มีอะไรเปลี่ยนแปลง ?





ทรู-ดีแทค” ควบรวมกิจการมาแล้วเกือบ 2 ปี (ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2566) มีการปรับจูนการทำงาน เพื่อสร้าง Synergy ในมิติต่าง ๆ เช่น การลดต้นทุน การจัดซื้อจัดจ้าง การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าย และการขยายฐานลูกค้าภายในอีโคซิสเต็ม จนถึงปัจจุบันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ภายใต้การดำเนินงานของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น

อัพเดตธุรกิจบรอดแบนด์

“มนัสส์ มานะวุฒิเวช” ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การทำตลาดและการแข่งขันในธุรกิจบรอดแบนด์ต้องมองเป็น 2 ประเด็น คือ 1.การโฟกัสที่คุณภาพสัญญาณ การให้บริการ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพราะพฤติกรรมการใช้งานเปลี่ยนไปส่งผลให้ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยี Smart Home หรือการรับชมคอนเทนต์บนสมาร์ททีวี

และ 2.การเพิ่มบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ เช่น ผู้ใช้บางกลุ่มอ่อนไหวเรื่องคุณภาพสัญญาณมาก ๆ ก็มีตัวเลือกเป็นโมเด็มใหม่ที่สามารถสลับใช้งานอินเทอร์เน็ตจากมือถือได้ทันที เมื่อสัญญาณหลุดหรือไม่เสถียร

“แผนการลงทุนในธุรกิจบรอดแบนด์ยังมีอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นตลาดที่ปัจจุบันมีการเข้าถึง (Penetration) แค่ 50% แต่การลงทุนจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป สมมติว่าในพื้นที่นั้นมี 1,000 บ้าน ก็อาจลงแค่ 300 บ้านก่อน พอเต็มแล้วค่อยขยายเพิ่ม”

ทั้งนี้ ณ ไตรมาส 3/2567 จำนวนผู้ใช้บริการออนไลน์ หรือบรอดแบนด์ของทรูอยู่ที่ 3.7 ล้านราย เพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.6% โดยรายได้ต่อผู้ใช้บริการต่อเดือน (ARPU) อยู่ที่ 524 บาท เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่ 520 บาท และช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 477 บาท

รักษา “King of Sports”
เมื่อถามถึงประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจอย่างการที่มีผู้ให้บริการรายอื่นได้รับสิทธิการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก อังกฤษ (EPL) ถึง 6 ฤดูกาล แทน “ทรูวิชั่นส์” ที่ถือสิทธิการถ่ายทอดสดในฤดูกาลปัจจุบัน จะส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจของทรูหรือไม่

“มนัสส์” มองว่า การไม่มี EPL อาจส่งผลกระทบบ้าง แต่ EPL ไม่ใช่ทั้งหมดของทรูวิชั่นส์ แม้จะเป็นคอนเทนต์ที่มีฐานคนดูจำนวนมาก แต่กลุ่มของ Sport Lovers ก็ยังมีการรับชมกีฬาอื่น ๆ เช่น แบดมินตัน เทนนิส วอลเลย์บอล หรือแม้แต่ F1 ก็ได้รับความนิยมกว่าที่คิดไว้ ซึ่งทรูวิชั่นส์มีตัวเลือกคอนเทนต์ฟุตบอล และกีฬาอื่น ๆ ให้รับชมอีกมากมาย เช่น บุนเดสลีกา, ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก และเอฟเอคัพ อังกฤษ

ปัจจุบันประเภทคอนเทนต์มีหลากหลายมาก คนดูก็ดูแบบผสมกัน จึงยังมีมุมอื่น ๆ ให้เลือกไป เช่น การเกาะติดชีวิต “หมูเด้ง” ตลอด 24 ชั่วโมง บนทรูวิชั่นส์ นาว หรือการพาร์ตเนอร์กับแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่าง Viu และ iQIYI ก็ช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับกลุ่มคนดูของทรู

“ส่วนจะมีโอกาสเป็นพาร์ตเนอร์ในการถ่ายทอดสด EPL ฤดูกาลหน้าหรือไม่ ทุกอย่างมีความเป็นไปได้เช่นกัน”

ทิศทางการรวมแบรนด์

สำหรับทิศทางการให้บริการภายใต้แบรนด์ “ทรู” เพียงแบรนด์เดียว “มนัสส์” บอกว่า ตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังให้แยกบริการภายใต้ชื่อ “ทรู” และ “ดีแทค” ไปอีก 3 ปี หลังการควบรวมกิจการเสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตาม ตามโครงสร้างการควบรวมบริษัท บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น สามารถให้บริการเครือข่ายมือถือได้ 2 แบรนด์ คือทรู และดีแทค จึงมองว่าการรวมแบรนด์เพื่อให้บริการในชื่อเดียวยังไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน เพราะสิ่งที่กำลังโฟกัสตอนนี้ คือจะทำให้ลูกค้าดีแทคเข้ามามีส่วนร่วมในอีโคซิสเต็มของทรูมากขึ้นอย่างไรมากกว่า

“ที่ผ่านมาลูกค้าดีแทคยังไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับบริการอื่น ๆ ของทรู แผนการดำเนินงานต่อจากนี้จึงจะเป็นการออกแบบประสบการณ์การใช้งานผ่านบริการต่าง ๆ เพื่อดึงลูกค้าดีแทคเข้ามาอยู่ในอีโคซิสเต็มของทรู”

มุ่งรักษาฐานลูกค้าเดิม

ซีอีโอ ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวด้วยว่า หนึ่งในคอนเซ็ปต์ที่ทรูใช้ในการดำเนินธุรกิจปีนี้ คือ “ยิ่งอยู่นาน ยิ่งรักกัน” ผ่านการนำเสนอแพ็กเกจที่เหมาะสมกับการใช้งานของลูกค้าเก่า นำไปสู่การอัพแพ็กเกจ และ ARPU ที่เพิ่มขึ้น โดยแต่ละปีผู้ใช้แต่ละรายมีปริมาณการใช้ดาต้าเพิ่มขึ้น 8-10% แม้จะใช้งานเท่าเดิม ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนมือถือรุ่นใหม่ที่ต้องใช้ดาต้าในการประมวลผลมากขึ้น เช่น การรับ-ส่งภาพคุณภาพสูง และการรับชมวิดีโอที่มีความละเอียดมาก

และ ณ ไตรมาส 3/2567 มีจำนวนผู้ใช้บริการรวม 49.3 ล้านเลขหมาย ลดลงจากไตรมาสก่อน 1.2 ล้านเลขหมาย โดยผู้ใช้บริการระบบรายเดือนลดลงมาอยู่ที่ 15.2 ล้านราย ขณะที่ผู้ใช้บริการระบบเติมเงินมีอยู่ 34.1 ล้านราย

“ลูกค้าที่หายไปไม่ได้กระทบกับการสร้างรายได้ของทรู อย่างกลุ่มลูกค้าเติมเงินก็เป็นปกติที่จะใช้และเลิกใช้ไป ที่ผ่านมาเรามีการควบคุมคุณภาพการขายระบบเติมเงินด้วย ทำให้ลูกค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพจริง ๆ”

ยกระดับโครงข่าย

ด้าน “ประเทศ ตันกุรานันท์” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงการยกระดับโครงข่ายสู่ความทันสมัย (Network Modernization) หรือการผสานการทำงานเสาสัญญาณของทรู และดีแทคด้วยว่า ได้ดำเนินการแล้วกว่า 10,800 สถานีฐาน คิดเป็น 64% ของแผนงานทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 ส่งผลให้ประสิทธิภาพเครือข่ายเพิ่มขึ้น

โดยความเร็ว 5G เพิ่มขึ้น 48% ความเร็ว 4G เพิ่มขึ้น 13% แบนด์วิดท์เพิ่มขึ้น 35% ในพื้นที่ที่ได้รับการอัพเกรด (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3/2567) รองรับการเติบโตของผู้ใช้บริการ 5G ที่มีจำนวน 12.4 ล้านราย เพิ่มขึ้น 5.4% จากไตรมาสก่อน

“ทรูเร่งพัฒนาประสิทธิภาพเครือข่ายด้วยการอัพเกรดอุปกรณ์ส่งสัญญาณรุ่นใหม่ที่รองรับการกระจายสัญญาณหลายความถี่ มุ่งเน้นการขยายคลื่น 700 MHz และ 2600 MHz พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพคลื่น 700 MHz และ 2100 MHz ส่งผลให้ลูกค้าทรูและดีแทคได้ใช้งานเครือข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ และมีความเร็วมากยิ่งขึ้น ยกระดับการใช้งานสู่มาตรฐานระดับโลก”

สำหรับแผนการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ใหม่ในปี 2568 ก่อนสัมปทานใบอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ที่ย่าน 850 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz ของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) จะหมดอายุในเดือน ส.ค. 2568 นั้น กำลังอยู่ในช่วงรอแผนและหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ที่ชัดเจนจาก กสทช. ซึ่งบริษัทเตรียมแผนรับมือไว้หลายสถานการณ์ เชื่อว่าไม่กระทบกับแผนการจัดสรรโครงข่ายและให้บริการลูกค้าอย่างแน่นอน

 

ข่าวจาก : prachachat

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: