ก่อนสิ้นปี 2567 นี้ ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 หลายคนอาจลืมไปใช้สิทธิของตัวเองในหลากหลายเรื่องโดยเฉพาะสิทธิทางด้านทันตกรรม
นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจ้งเตือนผู้ประกันตน ม. 33 และ ผู้ประกันตน ม.39 สามารถใช้สิทธิทำฟันโดยการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนและผ่าตัดฟันคุดได้โดยไม่ต้องสำรองจ่ายในสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม สามารถใช้สิทธิได้สูงสุด 900 บาทต่อคนต่อปี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
สำหรับสิทธิทำฟันเป็นสิทธิของผู้ประกันตนที่พึงจะได้รับประจำปี 2567 สามารถขอรับบริการในสถานพยาบาลเอกชนและเครือข่าย หรือสถานพยาบาลของรัฐ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้ การทำฟันประกันสังคมนอกจากถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนและผ่าฟันคุดแล้ว ยังครอบคลุมถึงการใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วนหรือชนิดถอดได้ทั้งปาก ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน
ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
- จำนวน 1 – 5 ซี่ จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท
- จำนวนมากกว่า 5 ซี่ จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท
2. ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก
ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
- ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท
- ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท
เงื่อนไขการใช้สิทธิประกันสังคมทางทันตกรรม
1. กรณีเข้ารับบริการกับสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับประกันสังคม
-สิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรม 900 บาทต่อคนเป็นสิทธิปีต่อปี
-ผู้ประกันตนที่ไปใช้สิทธิฯ สามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวในการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมกับสถานพยาบาล ที่มีป้ายสติ๊กเกอร์ระบุว่า สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม “ทำฟัน” ไม่ต้องสำรองจ่าย
2. กรณีเข้ารับบริการทางทันตกรรมในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ทำความตกลงกับ สปส.
การเบิกจ่าย :
1. ผู้ประกันตนยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนออนไลน์ E-Self Service ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th
2.ยื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่เข้ารับบริการที่ระบุไว้ในใบเสร็จและใบรับรองแพทย์
เอกสารที่ต้องใช้ :
- ใบเสร็จรับเงิน
- ใบรับรองแพทย์
- สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าแรกที่มีชื่อและเลขบัญชีของผู้ประกันตน หรือ
หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อมูลจาก : ฐานเศรษฐกิจ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ