22 ธันวาคม 2567 น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันรณรงค์ “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ซึ่งจากสถิติตัวเลขความสูญเสียในช่วงเทศกาลปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง พบว่า
- ปี 2565 เกิดอุบัติเหตุ 2,707 ครั้ง บาดเจ็บ 2,672 คน เสียชีวิต 333 ราย
- ปี 2566 เกิดอุบัติเหตุ 2,440 ครั้ง บาดเจ็บ 2,437 คน เสียชีวิต 317 ราย
- ปี 2567 เกิดอุบัติเหตุ 2,288 ครั้ง บาดเจ็บ 2,307 คน เสียชีวิต 284 ราย
สาเหตุสูงสุดได้แก่ ขับรถเร็ว 40.6%, ตัดหน้ากระชั้นชิด 23.31%, ดื่มแล้วขับ 14.29%, ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 87.01% ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี คิดเป็น 19.67%
นางสาวศศิกานต์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดแผนปฏิบัติงานเทศกาลปีใหม่ 2568 ช่วงคุมเข้ม 27 ธันวาคม 2567 – 2 มกราคม 2568 บังคับใช้กฎหมาย เน้น 10 ข้อหา เน้นหนักเรื่องการดื่มแล้วขับ ซึ่งในปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมา มีการจับกุมข้อหาเมาแล้วขับสูงถึง 20,917 ราย และทำการตรวจสอบประวัติผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเมาแล้วขับที่กระทำผิดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 เพื่อส่งฟ้องต่อศาลให้ได้รับโทษสูงขึ้น
ส่วนผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กและเยาวชน ได้ใช้มาตรการสืบสวนขยายผลไปยังร้านค้าที่จำหน่ายสุราโดยมีบัญชีร้านค้าเสี่ยงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลย หรือสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนดื่มสุรา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง
สำหรับบทลงโทษดื่มแล้วขับหากทำผิดครั้งแรก มีอัตราโทษ จำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000-20,000 บาท ทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000-100,000 บาท ถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
“รัฐบาลมีความห่วงใยความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนตลอดการเดินทางช่วงเทศกาล ขอให้ทุกคนมีสติ ดื่มไม่ขับ กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย”
ทางด้าน นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ที่จะถึงนี้ คาดว่าจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยจากการรายงานของวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินในช่วงระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 2 มกราคม 2568 รวม 7 วัน ระบุว่า จะมีเที่ยวบินรวม 18,280 เที่ยวบิน เฉลี่ย 2,611 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนในปี 2568 อุตสาหกรรมการบินในประเทศจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน คาดว่าจะมีเที่ยวบินทั่วประเทศประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน ภายใต้แนวคิด I-SMART ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวให้มีความรวดเร็วและปลอดภัย รองรับปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อไม่ให้เที่ยวบินมีความล่าช้าและความแออัดของเที่ยวบิน รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลสภาพการจราจรทางอากาศ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สายการบินอย่างรวดเร็วและทั่วถึง โดยดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทางวิ่ง ซึ่งจะจัดระยะห่างของอากาศยานขาเข้าและขาออกให้กระชับตามเกณฑ์มาตรฐานและสัมพันธ์กับค่าการใช้เวลาบนทางวิ่งของอากาศยาน เพื่อสามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้มากที่สุด และสามารถใช้ทางวิ่งร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดทางขับที่เหมาะสม เพื่อใช้เวลาบนทางวิ่งน้อยที่สุด เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจราจรทางอากาศ
นายอนุกูล ระบุต่อไปว่า การดำเนินดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และท่าอากาศยานดอนเมือง จะเพิ่มเป็น 57-60 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากเดิม 52 เที่ยวบินต่อชั่วโมง นอกจากนี้ ยังขยายขีดความสามารถด้านการปฏิบัติการบินและการกำหนดความเร็วของอากาศยานให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์และคำแนะนำการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างอากาศยานบนแนวร่อนให้คงที่และสามารถทำการลงได้อย่างปลอดภัย พร้อมจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เข้าดูแลทั่วทุกบริเวณอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ การควบคุมการจราจรทางอากาศและวิศวกร รวมถึงเตรียมมาตรการรองรับในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ใช้บริการ เดินทางอย่างปลอดภัย ถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ
อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/politic/2832367
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ