นักเรียนรับกวดวิชาทำเครียด แต่เชื่อได้ผลดีขึ้นจริง





นักเรียนรับกวดวิชาทำเครี

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาแถลงผลสำรวจความคิดเห็นต่อการเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียนของนักเรียน นักศึกษาไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 
 

ศ.ศรีศักดิ์กล่าวสรุปว่าจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,116 คน นั้นในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 51.16 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.84 เป็นเพศชาย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.08 และร้อยละ 33.51 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 14 ถึง 16 ปีและ 17 ถึง 18 ปีตามลำดับ และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าซึ่งคิดเป็นร้อยละ 41.4
 
ในด้านพฤติกรรมการเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.29 ระบุว่าเคยเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียนในปีการศึกษาก่อนหน้า  ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างถึงประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.04 ระบุว่าในปีการศึกษา พ.ศ. 2557 นี้ตนเองจะเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.96 ระบุว่าจะไม่เรียน
 
สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าตั้งใจจะเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียนนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.68 ตั้งใจจะเรียนกวดวิชาที่สถานกวดวิชาเป็นการเฉพาะ รองลงมาคือให้ครูอาจารย์มาสอนที่บ้านคิดเป็นร้อยละ 22.93  ส่วนวิชาที่กลุ่มตัวอย่างตั้งใจจะเรียนในการเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียนสูงสุด 5 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย คิดเป็นร้อยละ 83.04 สังคมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 81.55 ภาษาอังกฤษ คิดเป็นร้อยละ 79.65 คณิตศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 76.66 และเคมีคิดเป็นร้อยละ 73.68 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตั้งใจจะเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียนประมาณ 3 – 5 วันต่อสัปดาห์ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 46.68 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.66 ตั้งใจจะเรียน 6 – 7 วันต่อสัปดาห์   และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 43.01 ตั้งใจจะเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียนทั้งวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) และวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) 
 
สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างตั้งใจจะเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียนในปีการศึกษา 2557 นี้ ได้แก่ เตรียมความพร้อมเพื่อการสอบในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 82.5 ไม่เข้าใจที่ครูอาจารย์สอนในชั้นเรียน คิดเป็นร้อยละ 80.87 สิ่งที่เรียนในชั้นเรียนยังไม่เพียงพอ คิดเป็นร้อยละ 78.29 เพื่อนฝูงชักชวนให้เรียนด้วยกัน คิดเป็นร้อยละ 76.26 และต้องการให้ผลการเรียนดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 73.27 ส่วนสาเหตุสำคัญที่กลุ่มตัวอย่างไม่เรียนกวดวิชานอกเวลาเรียน 5 อันดับสูงสุดได้แก่ อยากพักผ่อนหลังเวลาเรียนปกติ/วันหยุด คิดเป็นร้อยละ 82.85 ขี้เกียจเรียน คิดเป็นร้อยละ 81.53 ไม่ชอบการเรียนกวดวิชา คิดเป็นร้อยละ 77.84 สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย คิดเป็นร้อยละ 75.99 และไม่มีเพื่อนเรียนด้วย คิดเป็นร้อยละ 70.45
สำหรับความคิดเห็นต่อการเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.94 และร้อยละ 45.88 มีความคิดเห็นว่าการเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียนจะช่วยให้นักเรียนนักศึกษาทำข้อสอบในวิชานั้นๆ ได้คะแนนดีขึ้นได้จริงและจะช่วยทำให้นักเรียนนักศึกษามีทักษะความรู้ในวิชานั้นๆ เพิ่มขึ้นได้จริง ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าการเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียนทำให้นักเรียนนักศึกษามีสมาธิในการเรียนในชั้นเรียนน้อยลงซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.03 ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.13 เห็นด้วยว่าการเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียนทำให้นักเรียนนักศึกษาให้ความสนใจกับการทำกิจกรรมในชั้นเรียนน้อยลง นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 56.45 ไม่เห็นด้วยว่าการเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียนทำให้นักเรียนนักศึกษาใช้เวลาทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น เล่นเกม เที่ยวเตร่ น้อยลง 
 
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างถึงครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 50.81 มีความคิดเห็นว่าการเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียนจะส่งผลให้นักเรียนนักศึกษามีความเครียดมากขึ้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.06 มีความคิดเห็นว่าการเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียนจะส่งผลให้นักเรียนนักศึกษามีเวลาพักผ่อนน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าการเรียนกวดวิชานอกเวลาเรียนมีความจำเป็นสำหรับนักเรียนนักศึกษาซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47.22 
ขอบคุณภาพจากhttp://www.matichon.co.th/

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: