ใครเคยเกิดอาการ"ผีอำ" คงจะเกิดความสงสัย จนกระทั่งถึงเกิดอาการหวาดกลัวหวาดหวั่น ไม่มากก็น้อย เพราะเป็นอาการที่ค่อนข้างแปลก อธิบายได้ยาก วันนี้ Eduzones มีข้อมูลของอาการ "ผีอำ" มาฝากกันค่ะ
ไม่ว่าจะเป็นอาการที่ พยายามจะตื่นแต่ขยับร่างกายไม่ได้ หรือ นั่งคุยกันอยู่ดีๆไม่มีทีท่าว่าจะง่วง แต่กลับหลับไปเฉยๆอย่างกระทันหันและไม่ได้ตั้งใจ เมื่อเป็นแบบนี้ ก็จะเรียกว่าผีอำ แต่ในทางการแพทย์จะอยู่ในหมวดที่เรียกว่า “นาร์โคเลปซี”
โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพียงความผิดปกติของการนอนหลับอย่างหนึ่งเท่านั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ระบบประสาทและสมอง รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า อาการผีอำในทางการแพทย์ และมุมมองวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์หรือผีแต่อย่างใด แต่เป็นโรคกลุ่มหนึ่งที่เป็นความผิดปกติ ที่เราจัดอยู่ในหมวดของความผิดปกติของการนอนหลับ
ปกติคนอยากจะนอนแต่นอนไม่หลับ คือเป็นโรคนอนไม่หลับ แต่ผีอำเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน คนไข้จะมีอาการหลายรูปแบบ โดย “ผีอำ” เป็นอาการกลุ่มหนึ่งในนาร์โคเลปซี คือ เป็นอัมพาตระหว่างหลับ ลักษณะคนไข้จะครึ่งหลับครึ่งตื่น รู้ตัวทุกอย่าง แต่ควบคุมร่างกาย แขนขา หรือแม้แต่พูดก็ยังไม่ได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “ผีอำ” และคนไข้จะจำเหตุการณ์ได้ทุกอย่าง
อาการ “ผีอำ” เชื่อว่าเป็นความผิดปกติของสารเคมีในประสาทบางอย่าง และพบว่ามีการกระตุ้นด้วยเหตุปัจจัยบางอย่าง เช่น ดูทีวีมากก่อนนอน มีความเครียดมากก่อนนอน หรือไม่อยู่ในภาวะพร้อมที่จะหลับ บางคนกินกาแฟเยอะ จึงมีคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหาร หลีกเลี่ยงการดูทีวีหรือทำอะไรที่ตื่นเต้นก่อนนอน
บางคนเป็นบ่อยมากจนรู้ว่าไม่ใช่ “ผีอำ” คือ เป็นบ่อยจนกลายเป็นโรค และรู้ว่าตัวเองต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอะไร ส่วนใหญ่มักจะเกิดปัญหาสำหรับคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น บางคนอาจจะไปทำงานต่างจังหวัดเหนื่อย พอเข้าพักโรงแรม แล้วเกิดอาการ บวกกับความเชื่อดั้งเดิมอยู่แล้วว่า “ผีอำ” ทั้งที่เป็นความผิดปกติของการนอนหลับ
ในรายที่เป็นมาก มีอาการรุนแรง แพทย์จะตรวจคลื่นสมอง ซักประวัติ ว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ ส่วนใหญ่การรักษามักแนะนำให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ไม่ควรทำ ยกเว้นในรายที่เป็นมากจะมีการใช้ยาช่วยในการนอนหลับ
สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่า “ผีอำ” หรือคิดว่ามีความผิดปกติ แนะนำให้ไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เช่น โรงเรียนแพทย์ ซึ่งจะมีศูนย์ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ หรือในโรงพยาบาลบางแห่งอาจเป็นหมอด้านการกรนก็จะดูแลให้
ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รอง ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า “ผีอำ” เป็นเรื่องวงจรการนอน เป็นการตื่นนอนช่วงที่กำลังฝัน ใครฝันร้ายแล้วลืมตามาในช่วงนั้นพอดี กลายเป็นความฝันนั้นยังค้างอยู่และจะขยับตัวไม่ได้ คนที่เป็นบ่อยอาจเชื่อมโยงกับความวิตกกังวลในช่วงกลางวัน
อาการ “ผีอำ” จึงเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ถ้าช่วงไหนอารมณ์ไม่ค่อยนิ่ง มีความเครียด เศร้า มีโอกาสไปผสานกับความฝันแล้วหลับไม่สนิท พอตื่นในช่วงนั้นก็จะเกิดอาการ แต่ถ้าหลับสนิทอาการเหล่านี้จะไม่เกิด ดังนั้นอาการ “ผีอำ” จึงเกิดได้กับทุกคน เพราะเป็นวงจรการนอน
ในคนที่เกิดอาการบ่อย ต้องดูว่ารบกวนชีวิตการทำงานหรือไม่ ถ้าคิดว่ารบกวนชีวิตประจำวันต้องรักษา เช่น ต้องดูว่าเป็นโรควิตกกังวลหรือไม่ เป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ หรือมีโรคทางกายอย่างไร ที่ไปกระตุ้นให้ระบบประสาทอัตโนมัติให้ทำงานไวจนเกินไป ถ้ารักษาโรคเหล่านั้นได้ อาการก็จะดีขึ้น
สรุปว่า ในทางการแพทย์ อาการผีอำเป็นความผิดปกติของการนอนหลับอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความเครียดความวิตกกังวล หากเป็นมากก็สามารถไปพบแพทย์และรักษาให้อาการดีขึ้นได้
ก็คงจะหายข้องใจ คลายสงสัยกันแล้วนะคะ และอย่างไร ก็อย่าลืมทำสุขภาพจิตและสุขภาพกายให้อยู่ในสภาพที่ดีด้วยนะคะ
เรียบเรียงโดย Riya www.eduzones.com
เครดิต : นวพรรษ บุญชาญ เดลินิวส์ออนไลน์ 25 พฤษภาคม 2557
photo : apekblogger.blogspot.com (not related to the article)
ค้นหา สุขภาพจิต และ จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน ทั้งหมด ที่ > Get to Know Yourself by Snowy Girl
เรื่องก่อนหน้า : อาหาร 5 ชนิด เพิ่มความแข็งแรงสมอง
เรื่องถัดไป :
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ