สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จัดโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ภายใต้หัวข้อในการประกวด “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” โดยผู้ที่สนใจส่งภาพเข้าร่วมประกวดสามารถส่งภาพถ่ายได้ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2557
ในโครงการนี้นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่สร้างความตระหนักทางด้านดาราศาสตร์และกระตุ้นให้เกิดความสนใจทางด้านดาราศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการรวบรวมภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ของประเทศไทยตามสถานที่ต่างๆ มาเพื่อนำมาใช้ในการจัดทำปฏิทินทางดาราศาสตร์ แล้วยังนำภาพอื่นๆ ที่ส่งเข้าประกวดมาใช้ในการจัดทำสมุดภาพสำหรับใช้เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์อีกด้วย
ปีนี้นอกจากผู้ชนะจะได้เงินรางวัลจากทางสถาบันฯ รวมแล้วกว่า 160,000 บาท แล้วทางบริษัทแคนนอน บริษัทแคนนอน ประเทศไทย จํากัด ก็ยังได้สนับสนุนของรางวัลอีกด้วยครับ เรียกได้ว่าได้ทั้งเงินได้ทั้งของรางวัลกันเลยทีเดียว
สำหรับภาพถ่ายที่สามารถส่งเข้าประกวดแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทนั้นก็มีเทคนิคและวิธีการในการถ่ายภาพที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
1. ภาพถ่ายประเภท Deep Sky Objects เช่น กาแล็กซี, เนบิวลา, กระจุกดาว
ตัวอย่างภาพถ่าย เนบิวลา M42 นี้เป็นภาพถ่ายที่ผู้ถ่ายต้องมีความรู้เรื่องการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้า และเทคนิคด้านการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ โดยจำเป็นต้องถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่สามารถติดตามวัตถุท้องฟ้าได้ และจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญการประมวลผลภาพถ่ายอีกด้วย
สำหรับประเภทแรกนี้จะมีผู้ส่งภาพเข้าประกวดค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นภาพที่ถ่ายได้ค่อนข้างยาก และต้องอาศัยอุปกรณ์และเทคนิคที่ยุ่งยากพอสมควร แต่ปัจจุบันก็พบว่ามีเหล่านักดาราศาสตร์ให้ความสนใจถ่ายภาพประเภทนี้กันเพิ่มขึ้น
2. ภาพถ่ายประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เช่น ปรากฏการณ์สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก การบังกันของวัตถุในระบบสุริยะ การเกิดคอนจังชั่นของวัตถุในระบบสุริยะเป็นต้น แต่ไม่รวมถึงปรากฏการณ์การขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ การเกิดเฟสของดวงจันทร์
สำหรับภาพประเภทนี้ ผู้ถ่ายภาพจะต้องติดตามการเกิดปรากฏการณ์ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร อาทิ ภาพตัวอย่างเป็นภาพถ่ายปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ ซึ่งจะสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงวันที่ 14-15 ธันวาคม ของทุกปี โดยตำแหน่งศูนย์กลางการกระจายตัวของฝนดาวตกจะอยู่ที่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ดังนั้นผู้ถ่ายภาพประเภทนี้ก็จะต้องรู้เวลา รู้สถานที่ ก่อนเสมอ เรียกได้ว่าเป็นภาพประเภทที่ต้องเฝ้าติดตามและรอคอยจังหวะการเกิดปรากฏการณ์ถึงจะสามารถถ่ายภาพแนวนี้ออกมาได้ และแต่ละปีก็จะมีปรากฏการณ์ที่สามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศไทยที่แตกต่างกันไปครับ
3. ภาพถ่ายประเภทวัตถุในระบบสุริยะ เช่น ดาวเคราะห์ ดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย ดวงจันทร์
ภาพถ่ายประเภทวัตถุในระบบสุริยะ ซึ่งมีวัตถุหลายอย่างให้สามารถถ่ายภาพได้บ่อยครั้ง เช่น ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือดาวเคราะห์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี และดาวอังคาร ก็เป็นวัตถุที่สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย แต่จุดสำคัญของภาพประเภทนี้ผู้ถ่ายจะต้องทราบว่า ควรเลือกถ่ายภาพวัตถุอะไร ในช่วงเวลาไหน และที่ตำแหน่งอะไร ถึงจะได้ภาพที่ดีที่สุด ตัวอย่างเช่น หากต้องการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ให้สวยงามและมีความน่าสนใจ เราก็ควรศึกษาดูว่าช่วงไหนที่ดวงอาทิตย์จะมีการประทุ หรือมี Sunspot ที่น่าสนใจ หรืออาจจะเป็นดาวเคราะห์ เช่นดาวพฤหัสบดี ซึ่งมีจุดแดงใหญ่เป็นพายุบนดาวพฤหัสบดี ก็ต้องทราบก่อนว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะสามารถถ่ายภาพให้ได้รายละเอียดที่น่าสนใจ ก่อนการถ่ายภาพ
ดังนั้นภาพประเภทนี้ บางครั้งอาจมองดูว่าน่าจะถ่ายได้ง่ายที่สุดก็อาจไม่ได้ง่ายเสมอไป แต่อาจจะเป็นภาพที่ยากที่สุดก็ได้ เรียกได้ว่า ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์มีอะไรให้น่าตื่นเต้นอยู่เสมอครับ?
4. ภาพถ่ายประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ เช่น ภาพถ่ายที่ประกอบด้วยวัตถุบนพื้นโลกกับวัตถุบนท้องฟ้าที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์
ภาพถ่ายประเภทนี้ถือว่าเป็นภาพที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นภาพทางช้างเผือก ภาพเส้นแสงดาว ภาพดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์กับวิวธรรมชาติ หรือภาพกลุ่มดาวบนท้องฟ้าที่น่าสนใจ ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีนักถ่ายภาพจำนวนมากที่ให้ความสนใจถ่ายภาพประเภทนี้กันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาพประเภทนี้ผู้ถ่ายภาพก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับทิศทางและกลุ่มดาวบนท้องฟ้าอยู่บ้าง เพื่อให้สามารถถ่ายภาพออกมาได้อย่างที่ต้องการ และในแต่ละปีก็จะพบว่ามีผู้ที่ส่งภาพมาร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก และมีเทคนิควิธีการที่แตกต่างกันไปทำให้ภาพประเภทนี้นอกจากความสวยงามของภาพแล้วแต่ละภาพยังมีเทคนิควิธีการที่น่าสนใจ รวมทั้งยังได้ความรู้ทางดาราศาสตร์อีกด้วยครับ
ภาพแนวนี้ก็มักจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเทคนิคและกติกาในการถ่ายภาพประเภทนี้ค่อนข้างมาก จึงขออธิบายกันนิดนึงครับว่า ภาพประเภทนี้สามารถถ่ายภาพด้วยเทคนิคการซ้อนภาพได้ แต่ต้องเป็นที่ตำแหน่ง ทิศทาง และทางยาวโฟกัสเดียวกัน และสามารถประมวลผลภาพด้วยเทคนิคการ Stacking Image ได้ รวมทั้งเทคนิคการถ่ายภาพแบบ HDR ก็ไม่ถือว่าผิดกติกาครับ เพราะถือเป็นเทคนิคของการถ่ายภาพครับ
ส่วนภาพที่ผิดกติกา คือ ภาพที่เกิดจากการรีทัช การตัดแปะ การทำภาพให้ผิดสัดส่วนจริง อันนี้ก็คงต้องขออนุญาตตัดสิทธิ์ครับ เพราะเป็นภาพที่ผิดหลักการครับ
5. ภาพถ่ายประเภทปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลก เช่น ปรากฏการณ์ทางลมฟ้าอากาศ ฟ้าผ่า เมฆ การเกิดรุ้งกินน้ำ ดวงจันทร์ทรงกลด หรือดวงอาทิตย์ทรงกลด
ภาพประเภทสุดท้ายนี้น่าจะเป็นประเภทที่สามารถพบเห็นและเกิดขึ้นได้บ่อยๆ เกือบทุกวัน ซึ่งการถ่ายภาพก็ไม่ยากครับ เพียงแต่หมั่นสังเกตท้องฟ้าและดูการเปลี่ยนแปลงปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลก ซึ่งในช่วงฤดูฝนก็มักจะเป็นช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลกได้บ่อยที่สุด กว่าช่วงฤดูอื่น ไม่ว่าจะเป็น ปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำที่มักเกิดหลังฝนตก ในทิศตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หรือเมฆสีที่มักจะเกิดในช่วงเย็น ก็มักปรากฏให้เห็นกันบ่อยครั้ง หากใครอยากลองถ่ายภาพแนวนี้ก็อาจ เริ่มจากหมั่นสังเกตท้องฟ้าบ่อย หรืออาจศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ “ชมรวมคนรักมวลเมฆ” ได้ตามลิงค์ครับ (http://cloudloverclub.com/pages/first-page/) หรืออาจลองดูเทคนิคการถ่ายภาพได้ตามลิงค์ครับ
ในวันที่ 21 มิถุนายน 2557 เวลา 10.00 – 16.00 น. นี้ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกับบริษัทแคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทนแลนด์) ก็จะได้จัดงานแถลงข่าวโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ และ Workshop เทคนิคการถ่ายภาพทางช้างเผือกให้ดุดัน และเส้นแสงดาวสวย ในงานนี้อีกด้วย
ใครที่สนใจเข้าร่วมก็สามารถลงทะเบียนได้ที่ http://goo.gl/Awl3NV หรือทาง https://www.facebook.com/AstrophotographyWorkshop ได้ครับ งานนี้ใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์อย่างไรไปเจอผมได้ในงานนี้นะครับ
เอาละครับตอนนี้หากใครที่เคยได้ถ่ายภาพทั้ง 5 ประเภทไว้ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหน ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้โชว์ฝีมือการถ่ายภาพให้โลกรู้ ว่าคนไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
ข้อมูล โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 มิถุนายน 2557
ค้นหา ความรู้ทั่วโลก เพิ่มเติม ที่ > EDUZONES KNOWLEDGE สาระน่ารู้ ความรู้รอบตัวทั่วโลก
เรื่องก่อนหน้า : แพทย์บราซิลเตรียมใช้แอพชี้จุดเพื่อป้องกันไข้เลือดออกระบาด
เรื่องถัดไป : ข่าวดี ฉลามขาวไม่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว !
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ