8ความจริงของสมอง และ 4ตัวช่วยการเรียนรู้





8 ความจริงของสมอง และ 4 ตัวช่วยการเรียนรู้

Eduzones มีข้อมูลที่จะทำให้เราเข้าใจการทำงานของสมองในการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีตัวช่วยอีก 4 ตัวช่วย ที่จะช่วยให้สมองของเราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย เรามาดูข้อมููลจาก อ.ดร.ปรียาสิริ มานะสันต์ กันค่ะ

8ความจริงของสมอง และ 4ตั
(คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพใหญ่)

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาทางพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนาในสหรัฐอเมริกา ได้ออกหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า The New Science of Learning (เรื่องใหม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ด้านการเรียนรู้) โดยสรุปหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองจากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติมาแล้ว เป็นการแย้งกับความเชื่อดั้งเดิมที่คิดว่า พรสวรรค์และการทุ่มเทเป็นเพียง 2 อย่างเท่านั้นที่จะช่วยให้เราเก่งขึ้น แต่ความจริงแล้วมีสิ่งที่ง่ายกว่านั้นค่ะ

สอดคล้องกับเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่ได้มีโอกาสพูดคุยสอบถามเรื่องเดียวกันนี้กับ นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  ในอดีตนั้นท่านเป็นผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศมองโกเลีย เคยได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดสำหรับผู้ทำประโยชน์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขต่อมวลมนุษยชาติ จะว่าไปแล้วการได้รับตำแหน่งและรางวัลเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และก็คงไม่ใช่เฉพาะการใช้ความเก่งแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งในตอนจบท่านก็ให้คำแนะนำมาด้วย สามารถปรับเอาไปใช้ได้ง่ายมากเลยค่ะ

ในหนังสือได้กล่าวถึงเรื่องของการเชื่อมโยงกระบวนความคิดและการเรียนรู้ไว้เป็นข้อ ๆ ดังนี้

1) งานวิจัยทางประสาทวิทยานั้นแสดงให้เห็นว่า เมื่อเราเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ สมองจะเกิดความเปลี่ยนแปลง เช่น จากการสแกนสมองพบว่า เซลล์สมองจะพยายามหาตัวเชื่อมต่อไปยังเซลล์สมองอื่น ๆ เป็นการสร้างโครงข่ายของสมอง ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า การเรียนรู้ใหม่ ๆ นั้นกำลังเกิดขึ้น

2) เมื่อไหร่ก็ตามที่เราใช้หรือฝึกฝนสิ่งใหม่ ๆ ที่เราเพิ่งเรียนรู้มา โครงข่ายที่เชื่อมระหว่างเซลล์สมองนั้นจะยิ่งแข็งแรงขึ้น รวมถึงความสามารถในการเรียกคืนข้อมูลที่เก็บไว้ ก็ทำได้เร็วมากขึ้น

3) สิ่งที่สำคัญมากก็คือ เพื่อให้ได้โครงข่ายที่เชื่อมระหว่างเซลล์สมองที่ดีและแข็งแรง เมื่อได้รับหรือเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ จำเป็นที่จะต้องมีการฝึกฝน และถ้าจะให้กลายเป็นความจำระยะยาว ข้อมูลใหม่ ๆ นั้นควรจะอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลเก่าด้วย

4) งานวิจัยทางประสาทวิทยายังชี้ด้วยว่า เพื่อให้ความจำนั้นยังคงอยู่แม้ไม่ได้ใช้ (เช่น ลองคิดถึงกรณีการขี่จักรยาน ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่เรากลับมาขี่ใหม่ก็ยังสามารถขี่ได้) จำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลาของการฝึกฝนด้วยเช่นกัน

5) การเร่งเรียน หรือเร่งท่องจำ (คิดกรณีนักเรียนอ่านหนังสือก่อนสอบ 1 วัน หรือหลักสูตรอัดฉีดต่าง ๆ) ไม่ใช่การเรียนรู้ การเร่งเรียนนี้ไม่สามารถทำให้สมองสร้างความทรงจำถาวร ทำให้ไม่สามารถเรียกกลับมาใช้เมื่อระยะเวลาผ่านไปได้ ดังจะเห็นได้จากการที่เราลืมเรื่องที่เราเคยท่องได้หรือเรียนผ่านไปแล้ว

6) เราสามารถรู้ได้ว่า สิ่งที่เรียนอยู่เป็นการเรียนรู้จริงหรือไม่นั้น ดูได้จากความสามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่ที่ได้รับในสถานการณ์อื่น ๆ นอกเหนือจากห้องเรียน หรือนอกเหนือจากสิ่งที่สอนไปแล้วได้หรือไม่ เช่น คนที่ว่ายน้ำได้ จะต้องว่ายได้ทั้งที่สระว่ายน้ำ บึง บ่อ หรือแม้แต่ทะเลได้

7) เซลล์สมองจะพยายามเรียกหาตัวเชื่อมต่ออยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งก่อนที่จะเกิดการเรียนรู้ ซึ่งตัวเชื่อมต่อนี้จะเชื่อมระหว่างข้อมูลเก่ากับข้อมูลใหม่ ทำให้เราเข้าใจข้อมูลใหม่ได้ง่ายขึ้น ในทางเดียวกัน ถ้าสมองไม่เคยมีข้อมูลเรื่องนี้มาก่อนเลย เซลล์สมองไม่สามารถหาเซลล์สมองอื่นมาเชื่อมได้ สมองจะเก็บข้อมูลใหม่ไว้ในส่วนที่ตื้นที่สุด ทำให้สามารถลืมได้ทุกเมื่อ

8) การเรียนรู้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าไม่ฝึกฝน ไม่ว่าจะเป็น การฝึกซ้ำ การอ่าน การเขียน การคิด การพูด การมีส่วนร่วม ถ้าไม่เลือกทำสักอย่างหนึ่งนี้ ไม่มีทางที่จะเกิดการเรียนรู้ขึ้น

ในหนังสือนั้นได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของปัจจัย 4 อย่างที่ส่งผลโดยตรงต่อสมอง และแน่นอนเป็นสิ่งที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว นั่นก็คือ สารอาหาร น้ำ การนอน และการออกกำลังกาย ซึ่งหลายท่านทราบดีอยู่แล้ว แต่น้อยคนที่จะให้ความสำคัญกับทั้ง 4 อย่างผสมผสานกัน

ในหนังสือกล่าวไว้ว่า สมองคนเราใช้พลังงาน 25-30% ของพลังงานทั้งหมดที่ร่างกายมี นั่นหมายความว่า ถ้าร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว สมองก็จะไม่ได้รับพลังงานไปด้วย และเมื่อสมองไม่ได้รับพลังงานก็ทำให้การทำงานของสมองแย่ลง นอกเหนือจากอาหารแล้ว น้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากในการเรียนรู้ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์แบบบูรณาการประจำมหาวิทยาลัยชิคาโกของสหรัฐ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ในเซลล์สมองนั้น จะเก็บกักน้ำไว้เหมือนกับลูกบอลลูนเล็ก ๆ เพื่อให้เซลล์สมองมีสภาพสดใหม่เต็มอิ่ม เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้ จำเป็นที่จะต้องมีน้ำเป็นส่วนประกอบ นอกจากนั้นแล้วน้ำยังช่วยให้สมองผลิตฮอร์โมนและให้สารสื่อประสาทในสมองทำงานได้ดีขึ้นด้วย

ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐ ยังเน้นด้วยว่าการนอนหลับส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจำ คนที่นอนน้อยจะทำให้ความสามารถในการเรียกข้อมูลต่ำลง 19% คนที่ไม่ได้นอนเลยจะมีความสามารถในการจดจำแค่ 50% เท่านั้น รวมถึง 2 ชั่วโมงสุดท้ายในการนอนถือว่าสำคัญที่สุดที่ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกเคลื่อนย้ายไปยังสมองส่วนที่จดจำที่ดีที่สุด นอกจากนั้นแล้วการนอนยังมีความสำคัญมาก เพราะเป็นการเคลียร์พื้นที่สมองให้มีที่ว่างสำหรับจดจำข้อมูลในวันต่อ ๆ ไป

ในตอนท้ายนั้น หนังสือเล่มนี้ยังย้ำงานวิจัยที่กล่าวว่าการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมทำให้ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราออกกำลังกาย สมองจะหลั่งสารสารเคมีและโปรตีนออกมาจำนวนมาก ซึ่งโปรตีนและสารสื่อเคมีนี้เป็นตัวการสำคัญในการเพิ่มศักยภาพของสมองในการรับข้อมูล ประมวลผลข้อมูล รวมถึงการจดจำที่ดีขึ้นอีกด้วยค่ะ

สุดท้ายแล้ว นายแพทย์วิวัฒน์ได้กล่าวไว้ว่า การเรียนรู้ที่ดีและมีความหมายที่สุดคือการเรียนรู้อย่างเข้าใจ อย่าเรียนเพื่อให้แค่รู้แต่ต้องเข้าใจด้วยว่ามันเกิดมาจากอะไร การทำความเข้าใจไม่ใช่จะเกิดได้เอง แต่ต้องใช้ทักษะหลายอย่างประกอบกันทั้งทำซ้ำ คิดซ้ำ เหนือสิ่งอื่นใดความเก่งคือการบังคับตัวเองให้ได้ ซึ่งก็ทำได้ง่ายนิดเดียวถ้าตั้งใจทำ

by Riya www.eduzones.com
ข้อมูล : อ.ดร.ปรียาสิริ มานะสันต์, โครงการพัฒนาศักยภาพประชากรไทย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, เดลินิวส์ออนไลน์ 7 มิถุนายน 2557  
photo : blog.b92.net, fotosearch.jp
ค้นหาเรื่องราว สมอง และ จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน ทั้งหมด ที่ > Get to Know Yourself by Snowy Girl

วิธีสร้างความมั่นใจให้ตน

เรื่องก่อนหน้า : แบบทดสอบบุคลิกภาพ : ค่ำคืนเผยตัวตน
เรื่องถัดไป : —

วิธีสร้างความมั่นใจให้ตน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: