ฆ่าตัวตาย หลังผลการเรียนติดเอฟ แพทย์แนะครอบครัวเปิดใจรับฟังปัญหา





ฆ่าตัวตาย หลังผลการเรียน
 
นักศึกษา ปี 4 เครียดจากผลการเรียนที่ตกต่ำติดเอฟ 2 ตัว ตัดสินใจขโมยปืนบิดามายิงตัวเองจนดับ ก่อนที่ทางญาติจะนำส่งโรงพยาบาลแต่ช่วยไว้ไม่ทัน…
 
เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 5 ก.ค.57 พ.ต.ท.สิทธิชัย ทิมัน พงส. สภ.แม่ปิง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้รับแจ้งจากแพทย์โรงพยาบาลแมคคอร์มิคเชียงใหม่ ว่า มีคนใช้อาวุธปืนยิงตัวเองเข้าที่ศีรษะทางญาตินำตัวมารักษาและได้เสียชีวิตลง จึงรุดไปสอบสวนพบศพ นายสมชาย(นามสมมุติ) อายุ 23 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้น ปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ มีบาดแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืนพกสั้นแบบลูกโหม่ ขนาด .38 มม. เข้าที่ขมับขวาทะลุออกขมับซ้าย 1 นัด
 
จากการสอบสวนทราบว่า นายสมชาย กำลังเรียนอยู่ปีสุดท้ายและมีอาการเครียดหลังจากที่ ผลสอบออกมา ติดเอฟ 2 ตัว ต้องลงทะเบียนเรียนใหม่ และเหตุการณ์ที่ทางญาติคาดไม่ถึงเมื่อผู้ตายขโมยอาวุธปืนพกสั้นของพ่อยิงศีรษะตัวเองในห้องนอนของบ้านพักเมื่อตอนตี 1 คืนวันเดียวกันนี้ ทางญาติได้ยินเสียงปืนจึงเข้าไปช่วยเหลือแล้วรีบนำส่ง รพ.และเสียชีวิตในเวลาต่อมา สอบสวนแล้วพนักงานสอบสวนจึงนำส่งศพมาให้แพทย์ภาควิชานิติเวช รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ผ่าชันสูตรอีกครั้ง ก่อนที่จะมอบศพให้ญาติต่อไป (ข่าวจากไทยรัฐออนไลน์ 5ก.ค.57)

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้เด็กไทยยังไม่ใช่กลุ่มหลักที่จบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย แนะครอบครัวเปิดใจรับฟังปัญหา

 
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงกรณีที่เยาวชนตัดสินใจฆ่าตัวตาย หลังมีผลการเรียนติดเอฟ ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เยาวชนตัดสินใจฆ่าตัวตายนั้น เกิดจากภาวะอารมณ์ที่กดดัน ซึ่งมีเหตุที่เป็นตัวกระตุ้นหลายด้าน เช่น ปัญหาเรื่องการเรียน ปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัว ปัญหาเรื่องความรัก และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่ประกอบกัน ทั้งนี้ในบางช่วงอาจพบเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ เกิดเหตุการณ์ฆ่าตัวตายซ้ำๆ ในรูปแบบใกล้เคียงกัน ซึ่งจะเกิดในเด็กที่มีภาวะทางอารมณ์อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามจากการรวบรวมสถิติที่ผ่านมา พบว่าเยาวชนยังไม่ใช่กลุ่มหลักที่จบปัญหาชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย
 
พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า สำหรับสัญญานเตือนที่บ่งชี้ว่า เด็กอาจมีปัญหาจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้นั้น สามารถสังเกตุได้จากพฤติกรรมโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้ 1.กลุ่มที่ส่งสัญญานเตือนอย่างตรงไปตรงมา จะมีการพูดจาในลักษณะที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากตาย 2.กลุ่มที่ส่งสัญญานทางอ้อม คือ จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังพบปัญหา โดยมักจะเก็บตัวไม่ออกไปพบเจอผู้คน ดังนั้นการดูแลเยาวชนหรือบุตรหลาน ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ ก็อยากแนะนำให้ครอบครัวพยายามเปิดโอกาสให้เขาพูดคุย ระบายปัญหาให้ฟัง และแสดงให้เด็กเห็นและรู้สึกได้ว่าไม่โดดเดี่ยว ซึ่งหากในบางรายไม่ได้ผลก็ต้องส่งต่อเข้าระบบการรักษา หรือนำพบหมอจิตเวช เพื่อให้การรักษาอย่างทันท่วงที.

ขอบคุณที่มา-http://www.dailynews.co.th/Content

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: