ถ้าเอ่ยถึงค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทุกวันนี้แล้วนั้น ต้องยอมรับว่าเด็กจบใหม่ที่พึ่งเริ่มต้นทำงาน เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายต่อเดือนกับรายได้ต่อเดือนแล้ว คงจะมีเด็กจบใหม่ที่มีสัดส่วนไม่ถึง 15% ของจำนวนประชากรทั้งหมดที่ไม่ต้องจำเป็นต้องพึ่งพาค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองแล้ว
แต่นั่นก็ไม่ได้โชคดีทุกคน ยิ่งจำนวนคนจบใหม่ที่มีมากกว่าปริมาณงานที่ว่างแล้ว ต้องยอมรับว่า อยู่ยากขึ้นทุกวันจริงๆ
คนโสดก็ดีไป แต่ถ้ามีครอบครัวขึ้นมาเมื่อไหร่ "มีลูกหนึ่งคน จนไปยี่สิบปี" ก็คงจะเป็นคำพูดที่ไม่เกินความจริงไปนัก
ยิ่งสมัยนี้ ค่านิยมที่ต้องพากันส่งลูกไปเรียนพิเศษ บ้างก็เพื่อลูกจริงๆ บ้างก็เพื่อให้คุยได้ว่า ลูกฉันก็ได้เรียนเหมือนกันนะ แต่หารู้ไม่ว่าค่าใช้จ่ายหลังจากนั้นมันจะมากมายมหาศาลขนาดไหน วันนี้เรามีบทความดีๆจากคุณหมอท่านหนึ่งมาให้อ่านกัน
-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-
วันนี้ขอแทรกเรื่องใหญ่ ที่คนทั่วไปไม่ได้พูดถึงกันเลย คือ เรื่องการเงินของบ้าน เมื่อต้องส่งลูกๆเรียนพิเศษ
ผมเตรียมบทความเรื่องการเรียนพิเศษกลุ่มวิชาการไว้แล้ว แต่มานึกได้ว่า มีประเด็นสำคัญที่ผมไม่อาจข้ามไปได้
เราเคยได้ยินคำเปรียบเปรย “มีลูก 1 คน จนไป 7 ปี” หลายคนก็เถียงว่า เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่ 7 ปี แต่เป็น 20 ปี
ที่มีคำพูดนี้ เพราะการมีลูก 1 คน สร้างรายจ่ายจำนวนมาก มากจนหลายบ้านคาดไม่ถึง และไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้
พอลูกเข้าเรียน ถ้าเป็นโรงเรียนดีๆ ก็มักจะเป็น รร.เอกชน ซึ่งค่าเทอมก็ทำเอาผู้ปกครองจุก ส่วนคนที่ส่งเรียน รร.รัฐบาลดังๆ ประจำจังหวัด เดี๋ยวนี้ก็มีทางเลือกให้ คือ มีโปรแกรมพิเศษ เช่น English program ค่าเรียนก็สูง
พอเรียนๆไป ก็เริ่มมี Line กลุ่มผู้ปกครองกัน แต่ละคนก็จะเริ่ม "ส่อง" กันละ ว่าใครส่งลูกเรียนพิเศษที่ไหน ยิ่งถ้าเด็กที่ผลการเรียนดี ก็จะยิ่งถูกจับตาเป็นพิเศษ
ความกลัวที่ครอบงำ เริ่มทำให้หลายๆบ้าน อยากส่งลูกเรียนพิเศษ โดยหลายครั้ง เราก็เก็บๆกดๆ เรื่องเงินที่ต้องจ่ายเอาไว้ ไม่เอามาคิด เพราะทุกคนรู้สึกว่า "เพื่อลูก" ฉันต้องทำได้
ยิ่งบางโรงเรียน มีวัฒนธรรมที่เพื่อนๆ ในห้อง ไปเรียน Summer เมืองนอก ราคาเป็นหลักแสนบาท ไอ้เราพ่อแม่ก็ไม่อยากให้ลูกเสียโอกาส ก็เลยบอกลูกให้สมัครไป
หลายบ้าน เพียงเพราะลูกมาขอว่าอยากเรียน ก็ตอบตกลงทันที โดยคิดแต่ว่า "เพื่อลูก เพื่อลูก" และไม่เคยคุยกับลูกเรื่องเงินค่าเรียนเลย
พ่อแม่จำนวนไม่น้อย ส่งลูกเรียนเพราะรู้สึกว่า เอาไป "อวดได้" ว่าลูกฉันเรียนดนตรี กับครูที่เก่งมาก เรียนไวโอลินกับครูชื่อดัง เป็นต้น
ผมเดาว่า หลายบ้าน เริ่มเข้าสู่ภาวะเงินตึงตัว ไหนจะค่าเทอม ไหนจะค่าเรียนพิเศษลูก ยิ่งบ้านที่มีลูกมากกว่า 1 คน ยิ่งตึงมาก
พอเงินตึงมือ สิ่งที่ต้องทำคือ
1. หาเงินเพิ่มขึ้น ต้องขึ้นเวร ทำOT ผลคือ เวลาที่มีให้ลูกก็น้อยลง ลางร้ายเริ่มมาเยือนละ
2. เปียแชร์ ยิ่งถ้าช่วงที่ใกล้เปิดเทอม ยิ่งแย่งกัน ถ้าอยากได้จริงๆ ต้องสู้ค่าดอก พออีกหลายงวดต้องจ่ายดอกแพง ก็เริ่มหน้ามืด ผมรู้เพราะป๊าผมเคยเป็นเจ้ามือแชร์ครับ เลยรู้เยอะ เห็นเยอะ
3. เริ่มพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซื้อหวย โชคดีที่ คสช.คุมราคาหวย 80 บาท แต่เชื่อเถอะ เงินที่เคยถูกรางวัล เทียบไม่ได้กับที่ต้องเสียไป
4. อะไรที่กู้ได้ กู้หมด สหกรณ์เอย ธนาคารที่มีสินเชื่อพิเศษกับหน่วยงานของเรา กู้หมด กู้เต็มวงเงิน เงินเดือนถูกหักเรียบ บางทีเหลือเงินเดือนให้กดแค่หลักพันบาท
5. สมัครบัตรกดเงินสดทั้งหลาย ไม่เชื่อลองดูทุกสิ้นเดือนสิครับ แถวกดเงินตู้กดเงินสด ยาวเหยียดจนน่ากลัว
6. กดเงินสดจากบัตรเครดิต อาการนี้แปลว่าเริ่มสาหัสมาก
7. ส่งรหัสชิงโชคใต้ฝาเครื่องดื่ม ดื่มกันจนเบาหวานขึ้นปรี๊ด
8. ขาย หรือ จำนำ ทรัพย์สมบัติที่มี
9. กู้เงินนอกระบบ นี่สาหัสมาก อาการโคม่า
เรียนพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี เต้น กีฬา ศิลปะ หรือวิชาการ มีค่าใช้จ่ายทั้งทางตรง คือ ค่าเรียนที่ต้องจ่าย และทางอ้อม คือ ค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าอุปกรณ์ รวมๆแล้วถือว่ามาก
ดังนั้น เวลาที่ใครก็ตาม ที่อยากส่งลูกเรียนพิเศษ อย่าเพิ่งเอาเหตุผลเหล่านี้มาก่อน เช่น
– ฝึกสมาธิ ฝึกความคิดที่ซับซ้อน ฝึกความจำ
– จัดระเบียบร่างกาย
– จิตใจที่อ่อนโยน ละมุนละไม
– ลูกอยากเรียน ลูกมีความสุข
ผมคิดว่า เรื่อง Budget หรืองบประมาณ ต้องมาก่อน แน่นอนว่า มีหลายบ้านที่เหลือกินเหลือใช้จริงๆ ผมก็ยินดีด้วย และอยากเรียนอะไร ก็คงไม่กระทบกับฐานะทางการเงิน
อย่าหลงไป "ติดกับ" กับธุรกิจเรียนพิเศษครับ ผมไม่ได้รังเกียจคนที่สอนพิเศษ แค่ต้องการเตือนสติท่านว่า อย่าหลงเคลิ้มไปกับสิ่งที่ธุรกิจเหล่านี้ ที่พูดแต่ข้อดีเมื่อส่งลูกมาเรียนกับเขา
แตะกระเป๋าสตางค์ทุกครั้ง ที่คิดจะจ่ายเงินค่าเรียนพิเศษ ไม่มีใครปกป้องเงินในกระเป๋าคุณได้ นอกจากตัวคุณเอง
อย่าลืมว่า มีสิ่งที่ "จำเป็นจริงๆ" อีกมากที่ต้องจ่าย เพราะฉะนั้น อย่าให้เงินรั่วไหลไปกับการเรียนพิเศษที่ "ไม่มีความจำเป็นจริงๆ" เลยครับ
อ้อ! ที่สำคัญที่สุด สิ่งที่ผมพูด ผมก็ทำอย่างนั้น ปากตรงกับใจครับ ลูกๆ ของผมเทอมนี้ไม่ได้เรียนพิเศษเลย และคงเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าจะเรียนอะไรสักอย่าง ก็ต้องผ่านการคิดการพูดคุยถึงประโยชน์จริงๆ ผมไม่ได้ขี้เหนียวอะไร ผมทำทุกอย่างก็ "เพื่อลูก" เหมือนทุกท่านแหละครับ
รูปนี้ กำลังจะบอกว่า พอไม่ได้เรียนพิเศษ เลยเหลือเวลาพาลูกเที่ยว ที่สำคัญถูกตังค์กว่าค่าเรียนพิเศษเยอะ
ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า
ThaiJobsGov เรียบเรียง
[ads=center]
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ