สมศ.ยันทำหน้าที่ตามกฎหมาย ถามหากยุบแล้วใครจะตรวจสอบคุณภาพ





สมศ.ยันทำหน้าที่ตามกฎหมา
 
สมศ.ยันทำหน้าที่ตามกฎหมาย พร้อมแจง คสช. และทบทวนบทบาทตัวเอง ถามหากยุบ สมศ.แล้วใครจะตรวจสอบคุณภาพ ชี้การกระจายอำนาจยิ่งทำให้ต้องคุมเข้ม พร้อมหารือมหาวิทยาลัยทุกกลุ่มปรับเกณฑ์ประเมินรอบ 4
 
วันนี้ (18 ก.ค.) ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร สมศ. ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีที่มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเสนอให้มีการยุบ หรือปรับปรุงบทบาทของ สมศ. โดยที่ประชุมเห็นว่า การดำเนินงานของสมศ.เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่กำหนดให้มี สมศ. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา และตรวจสอบคุณภาพการจัดการศึกษา เพื่อให้ผลผลิตที่ออกมาสมบูรณ์ ทั้งความรู้ คุณธรรม และจริยธรรม ดังนั้นหากมีการยุบ สมศ. แล้วจะมีหน่วยงานใดมาทำหน้าที่แทน เพราะการตรวจสอบคุณภาพการศึกษามีความจำเป็น ยิ่งในช่วงหลังมีการกระจายอำนาจให้แก่สถานศึกษา สมศ.ต้องทำหน้าที่ให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ที่เดิมมีมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่ง และถูกกำกับแบบเข้มข้นจากส่วนกลาง การจะเปิดสอนแต่ละสาขาวิชาต้องใช้เวลานาน แต่ปัจจุบันเมื่อมีการกระจายอำนาจทำให้การจะเปิดสาขาวิชา หรือการขยายวิทยาเขตจบลงเพียงแค่ผ่านการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น สมศ.จึงต้องยิ่งตรวจสอบให้เข้มข้น และทำหน้าที่สะท้อนผลการศึกษา เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคว่าสถานศึกษาจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และมีอาจารย์ผู้สอนที่มีคุณภาพจริงหรือไม่ 
 
ผอ.สมศ. กล่าวต่อไปว่า จากผลการประเมินคุณภาพภายนอก รอบ 3 ในส่วนของตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย 48,699 คน พบว่า มีตำแหน่งเป็นอาจารย์ 32,495 คน คิดเป็น 66.73% ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 10,082 คน คิดเป็น 20.70% รองศาสตราจารย์ 5,414 คน คิดเป็น 11.12% และศาสตราจารย์ 708 คน คิดเป็น 1.45% ซึ่งจากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าอาจารย์ทำผลงานวิจัยน้อยมาก การตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการก็น้อย จึงทำให้มีอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการน้อยตามไปด้วย อีกทั้งยังส่งผลต่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกด้วยเช่นกัน ซึ่งการจัดอันดับปี 2014 ของคิวเอส พบว่า ในระดับโลก มีมหาวิทยาลัยไทย 2 แห่งที่ติด 500 อันดับแรก ส่วนระดับเอเชีย มีมหาวิทยาลัยไทย 3 แห่งที่ติด 100 อันดับแรก    
 
“สมศ.พร้อมที่จะปรับปรุงและทบทวนบทบาทการทำงานของตนเอง แต่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องปรับปรุงตัวเองด้วยเช่นกัน ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยออกมาเสนอให้ยุบ สมศ. และต่อต้านการประเมินนั้น แสดงว่าเป็นกลุ่มที่ไม่พร้อมรับการประเมิน  จึงรู้สึกเป็นภาระ โดยผมเชื่อว่าหากมหาวิทยาลัยดำเนินงานเก็บสะสมข้อมูลดีอยู่แล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาหรือกังวลกับการประเมินแต่อย่างใด” ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวและว่า สถาบันต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบของคุณภาพของบัณฑิต โดยหลักสูตรต่างๆ ต้องผ่านการรับรอง ไม่ใช่ธุรกิจการศึกษา ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ซึ่งการพัฒนาเกณฑ์การประเมินภายนอก รอบ 4 นั้น ได้ดำเนินการมา 2 ปี และเปิดรับฟังความคิดเห็นมาโดยตลอด ทั้งนี้ตนพร้อมที่จะเชิญมหาวิทยาลัยทุกกลุ่มมาหารือ เพื่อปรับปรุงเกณฑ์การประเมินภายนอกรอบ 4 แต่ต้องเสนอด้วยเหตุผล เพราะเกณฑ์การประเมินต้องไม่ยาก และไม่ง่ายเกินไป ไม่เช่นนั้นถ้าทุกแห่งผ่านหมด ก็จะไม่สามารถจำแนกสถานศึกษาที่มีคุณภาพ ออกจากสถานศึกษาที่ไม่มีคุณภาพได้ ส่วนกรณีที่มีผู้จะเสนอยื่นเรื่องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุบสมศ. นั้น ตนยินดี และพร้อมที่จะไปชี้แจงให้ คสช.เห็นภาพรวมในการทำงานของ สมศ. 
 
ที่มา-http://www.dailynews.co.th/

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: