ดร.ชาญณรงค์ วันทา อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมอาหาร ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี นำทีมนักศึกษา ประกอบด้วย “ใบปอ” น.ส.บวรลักษณ์ สายรัตนอินทร์ “แพรว” ปรารถนา คำหน่องไผ่ และ “ผึ้ง” น.ส.กัญญา กองเกตุใหญ่ ออกแบบเครื่องช่วยผลิตเส้นโรตีสายไหม
ดร.ชาญณรงค์ เล่าว่า โรตีสายไหมเป็นขนมชนิดหนึ่ง ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีขั้นตอนการผลิตค่อนข้างยุ่งยาก อีกทั้งต้องใช้เวลาและจำนวนคนผลิตมาก จากการศึกษากระบวนการผลิตขนมโรตีสายไหมสามารถแบ่งออกได้เป็น ๕ขั้นตอนหลัก คือ(๑)การหม่าแป้ง คือ การผสมแป้งโรตีเตรียมไว้ (๒) การแต้มแป้งคือ การทำแป้งให้สุกบนกระทะสำหรับทำโรตี (๓) การทำหัวเชื้อ คือ การผัดกวนแป้งกับน้ำมันพืชเตรียมไว้สำหรับผสมกับน้ำตาลในขั้นตอนดึงสายไหม (๔) การเคี่ยวน้ำตาลคือ การนำน้ำตาลทรายบริสุทธิ์และน้ำมาตั้งไฟเคี่ยวเข้าด้วยกัน (๕)การดึงเส้นสายไหมคือ การนำน้ำตาลที่เคี่ยวแล้วมาดึงหรือยืดออกจนเป็นเส้นฝอยๆ
“ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาในการผลิตค่อนข้างมากและเป็นอุปสรรคกับการผลิตเชิงพาณิชย์ ได้แก่ ขั้นตอนการดึงเส้นสายไหม เนื่องจากการดึงก้อนน้ำตาลเพื่อทำเป็นเส้นสายไหมด้วยแรงจากมนุษย์นั้น หากออกแรงดึงมาก เส้นสายไหมที่ได้อาจขาดป่นไม่สวยในทางตรงกันข้ามหากออกแรงดึงน้อยเกินไป มักทำให้เกิดเป็นเส้นน้ำตาลใหญ่และแข็งได้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการสัมผัสจับกับเส้นสายไหมในระหว่างที่ดึงน้ำตาล ซึ่งบางครั้งอาจมีผลต่อสุขลักษณะและความสะอาดของเส้นสายไหมได้ แนวทางหนึ่งในการเพิ่มอัตราการผลิตขนมโรตีสายไหมก็คือการลดเวลาในขั้นตอนการผลิตที่ ๕ลงจึงร่วมมือกันออกแบบและสร้างเครื่องต้นแบบเครื่องช่วยผลิตเส้นโรตีสายไหมขึ้น” ดร.ชาญณรงค์ กล่าว
เครื่องที่ทำการออกแบบนี้สามารถยืดเส้นน้ำตาลในแนวนอนราบโดยมีส่วนประกอบหลักคือ ชุดส่งกำลังขับ ชุดดึงเส้นน้ำตาล และชุดระบบไฟฟ้าควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติชุดดึงเส้นน้ำตาลถูกออกแบบให้เชื่อมติดกับเฟืองสะพานเพื่อให้สามารถเคลื่อนที่ไปและเคลื่อนที่กลับในแนวราบได้แบบอัตโนมัติ ซึ่งหลักการทำงานของชุดควบคุมได้นำเทคโนโลยีไมโครคอนโทรลเลอร์เป็นตัวควบคุมการทำงานทั้งหมด ผลจากการทดสอบสมรรถนะของเครื่องพบว่าเครื่องต้นแบบนี้สามารถผลิตเส้นโรตีสายไหมที่ปริมาณทดสอบ ๒ กิโลกรัมได้ในเวลา ๕ นาที นั่นคือสามารถผลิตได้ ๒๔ กิโลกรัมในเวลา ๑ชั่วโมง
เครื่องต้นแบบนี้สามารถช่วยลดเวลา และแรงงานจากมนุษย์ ในการยืดเส้นสายไหมลงได้ ทั้งยังช่วยลดการสัมผัสเส้นโรตีสายไหม เป็นการเพิ่มความสะอาดให้กับขนมโรตีสายไหมได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงสามารถพัฒนาไปสู่การใช้เป็นเครื่องช่วยผลิตเส้นโรตีสายไหมสำหรับวิสาหกิจชุมชนได้ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร. ธัญบุรี หรือโทร.๐-๒๕๔๙-๓๕๗๙-๘๑
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ