บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เกิดขึ้นครั้งแรกของโลกเป็นความคิดของ “นายอันโด โมโมฟุกุ” ผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มบริษัทนิชชิน ในปี 2501 ซึ่งเป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนประสบภาวะข้าวยากหมากแพง กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นแนะให้ชาวญี่ปุ่นกินขนมปังทำจากข้าวสาลี โดยได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา แต่นายอันโดกลับคิดว่าทำไมชาวญี่ปุ่นต้องกินขนมปัง ทั้งๆ ที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกับการกินบะหมี่หรือราเมน เขาจึงทดลองทำบะหมี่ที่ใครๆ ก็ทำกินเองได้ง่าย สะดวก และราคาถูก
หลังจากที่ลองผิดลองถูกอยู่หลายเดือน ในที่สุดวันที่ 25 ส.ค. 2501 นายอันโดคิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้เป็นครั้งแรก เมื่อเขาอายุได้ 48 ปี โดยตั้งชื่อบะหมี่ของเขาว่า “ชิกิ้น ราเมน” โดยนำเส้นราเมนที่ได้จากการผสมกับน้ำซุปกระดูกไก่ (โทริคะระ) ทอดในน้ำมันปาล์มไล่ความชื้นออกไป เพื่อสามารถเก็บไว้ได้นาน แค่เติมน้ำร้อนเส้นก็จะคืนสภาพเดิมและกินได้ทันทีโดยไม่ต้องปรุงอะไรเพิ่มเติมเลย
ปัจจุบันชิกิ้น ราเมนยังเป็นรสที่ขายดี ที่ยังคงความอร่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ต่อมาปี 2507 นายอันโดก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป และเป็นประธานสมาคมผู้ผลิตราเมนนานาชาติ และก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ราเมนสำเร็จรูปโมโมฟุกุ อันโด กิจการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้รับการตอบรับดีมาก
กระทั่งปี 2514 นายอันโดในวัย 61 ปี ขยายกลุ่มผู้บริโภคไปยังต่างประเทศ โดยพุ่งเป้าไปที่สหรัฐ และสังเกตเห็นว่าชาวอเมริกันมักจะหักบะหมี่ออกเป็นสองท่อนแล้วใส่ในถ้วย ก่อนจะเติมน้ำร้อนตามไป และใช้ส้อมแทนตะเกียบ ทำให้เขาปิ๊งไอเดียผลิตบะหมี่ในชามขึ้นมา โดยใช้ถ้วยโฟมบรรจุบะหมี่ออกวางขาย หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นบะหมี่ถ้วย หรือคัพเมน หรือคัพนู้ดเดิ้ล
ตามประวัติบอกว่าตอนแรกบะหมี่ถ้วยยังไม่เป็นที่นิยมกันมากนัก จนเมื่อเกิดเหตุการณ์การลักพาตัวประกันโดยกลุ่มต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่จังหวัดนากาโน่ โดยมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ตลอดเวลาต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 10 วัน เป็นเหตุการณ์ที่มีผู้ชมมากที่สุดในประวัติศาสตร์โทรทัศน์ญี่ปุ่น ถึงร้อยละ 90 ผู้ชมเห็นความเคลื่อนไหวและความเป็นไปของเหตุการณ์โดยตลอด และมีภาพของคนที่กำลังกินคัพนู้ดเดิ้ลในสถานที่เกิดเหตุด้วย เพราะในช่วงนั้นอากาศหนาวมาก จึงกินข้าวในกล่องหรือเบนโตะไม่ได้เพราะแข็งจนกินไม่ได้ จากนั้นมาคนญี่ปุ่นจึงได้รู้จักคัพนู้ดเดิ้ลในวงกว้างและแพร่หลายไปทั่วโลก
credit : www.waeplus.co.uk
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ