แนะนำ 17 วิธีประหยัดค่าอาหาร กินอิ่มท้องแต่มีเงินเหลือ
วิธีประหยัดค่าอาหาร ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องปากท้องในแต่ละวันอย่างง่าย ๆ วันนี้เรามีเคล็ดลับประหยัดค่าอาหารที่อยากให้ลองทำตามดูสักเดือนแล้วจะติดใจมาฝากกันด้วย
ถ้าใครได้ลงบันทึกค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน อาจเห็นได้ชัดเจนเลยว่าค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เทน้ำหนักไปที่เรื่องอาหารการกินแทบทั้งสิ้น ยิ่งถ้าลองคำนวณดูยอดค่าใช้จ่ายส่วนนี้แล้วอาจมีอึ้งตอนสิ้นเดือนเลยก็ได้นะคะ เพราะบางทียอดสุทธิก็ปาเข้าไปเกินครึ่งของเงินเดือนเลยทีเดียว เอาล่ะ ! นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เรามาลดค่าใช้จ่ายค่าอาหารกันด้วยวิธีต่อไปนี้เลยดีกว่า
1.ใช้ประโยชน์จากคูปองลดราคาให้คุ้ม
การแข่งขันทางตลาดที่สูงขึ้นทุกวันผลักดันให้ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ออกโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้ากันเป็นว่าเล่น และที่เห็นบ่อยที่สุดก็คงไม่พ้นบรรดาคูปองลดราคาหรือเหล่าคูปองเงินสดที่สามารถนำไปซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคได้ในราคาที่ประหยัดขึ้นอีกเยอะ ซึ่งก็เท่ากับว่าเราสามารถใช้คูปองที่ได้ไปซื้ออาหารสดและอาหารแห้งเก็บไว้รับประทานในราคาที่ถูกกว่าปกตินั่นเอง
2.อย่าลืมโปรโมชั่นบัตรเครดิต
สำหรับคนที่ถือบัตรเครดิตของธนาคารต่าง ๆ อยู่ ลองติดตามโปรโมชั่นบัตรเครดิตประจำเดือนให้ดีสิคะ แล้วคุณจะรู้เลยว่าบัตรเครดิตคืนกำไรให้เราด้วยโปรโมชั่นร้านอาหารชั้นนำมากมายเลยทีเดียว ทว่าหากไม่จำเป็นต้องไปทานอาหารนอกบ้านหรือไม่มีงานมีตติ้งกับเพื่อน ก็ไม่ต้องใส่ใจโปรโมชั่นพาเสียเงินเหล่านี้ก็ได้
3.ลิสต์รายการอาหารก่อนช้อป
เพื่อป้องกันไม่ให้งบบานปลาย ก่อนออกไปตลาดหรือไปช้อปที่ห้างสรรพสินค้าทั่วไปแนะนำให้จดรายการของที่ต้องการซื้อให้ครบถ้วน แล้วซื้อของตามลิสต์ที่จดไว้อย่างเคร่งครัด ห้ามนอกลู่นอกทางไปซื้อของที่ไม่มีความจำเป็นต้องกินต้องใช้เด็ดขาดเลยเชียว
4.ห้ามใจให้ได้กับของลดราคา
เคยไหมคะที่ต้องมานึกเสียดายเงินทีหลัง หลังจากเผลอตัวช้อปของลดราคามาซะแน่นรถเข็น ก็แหม…มันอดใจไม่ไหวกับของเซลส์จริง ๆ นี่นา แต่หากไม่อยากหมดเงินเกินความจำเป็นอีกต่อไป พยายามทำใจแข็งกับอาหารถูกและอาหารลดราคาดีกว่า
5.กินเท่าที่งบอำนวย
ปากบางคนใหญ่กว่าท้อง แถมยังติดหรูชอบกินแต่อาหารมีแบรนด์ราคาแพงหูฉี่ซะด้วย แล้วสุดท้ายก็ต้องมานั่งกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตอนปลายเดือนเป็นประจำ แต่หากคุณไม่อยากเป็นยาจกตอนสิ้นเดือนอย่างนี้ ก็พยายามยังคับพฤติกรรมตัวเองให้กินอยู่แบบพอเพียงกับงบประมาณที่มีเถอะนะคะ
6.เลี่ยงไปตลาดเวลาหิว
แม้จะเป็นการช้อปของกิน ซึ่งมักจะเก็บไว้นานไม่ได้ แต่เวลาหิวขึ้นมาเราก็เผลอซื้อของกินมากเกินความจุของกระเพาะซะทุกครั้งไป แล้วก็มักจะลงท้ายด้วยการโยนทิ้งถังขยะเพราะกินเหลือทุกทีอีกต่างหาก เอาล่ะ ! ในเมื่อก็เคยมีประสบการณ์เจ็บช้ำแบบนี้มาก่อน ต่อไปนี้ก็เลือกไปตลาดในตอนที่ได้หิวจัดดีกว่าเนอะ
7.เปรียบเทียบราคาอาหาร
หากเราเป็นคนซื้อของสดและอาหารด้วยตัวเอง เราจะรู้ดีอยู่แล้วว่าราคาอาหารแต่ละประเภทจะอยู่ในเรตไหน ซึ่งเพื่อความคุ้มค่าอย่างที่สุด เราก็ควรเปรียบเทียบราคาสินค้าบริโภคจากหลาย ๆ ที่ เจอราคาที่ต่ำสุดตรงไหนก็ซื้อตรงนั้น
8.อย่ากักตุนอาหาร
หลายคนเชื่อว่าการกักตุนอาหารจะช่วยประหยัดได้อีกหลายบาท แต่ในบางกรณีที่ซื้อยกแพคก็ไม่ได้ถูกลงกว่าซื้อปลีกสักเท่าไร การกักตุนอาหารอาจไม่ใช่ทางเลือกประหยัดเงินที่ดีที่สุดกับคุณก็ได้ แถมยังเป็นการนำเงินไปจมอยู่กับอาหารมากเกินความจำเป็นอีกด้วย ฉะนั้นสินค้าบางอย่างที่นาน ๆ ซื้อสักครั้ง ก็อย่ากักตุนเลย
9.ซื้อเบเกอรี่ในตอนเช้าตรู่หรือช่วงหัวค่ำ
เบเกอรี่เป็นอาหารที่ต้องทำสดใหม่ ดังนั้นร้านเบเกอรี่ส่วนใหญ่จึงนำเบเกอรี่ของเก่ามาเลหลังขายในราคาที่ถูกลง โดยเฉพาะช่วงเช้าหรือช่วงค่ำของวัน ดังนั้นคนที่ชื่นชอบเบเกอรี่ทั้งหลายก็น่าจะไปซื้อเบเกอรี่ในช่วงเวลานี้จะช่วยให้ได้ของอร่อยที่ราคาลดลงไปเยอะเลย
10.ซื้ออาหารสดช่วงค่ำ
เนื้อสัตว์ก็เป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่ชอบนำมาเลหลังเมื่อความสดใหม่ลดน้อยลง ดังนั้นหากคุณมีแผนจะทำอาหารในเย็นวันนั้นหรือวันรุ่งขึ้น ก็สามารถซื้อเนื้อสัตว์ลดราคาเหล่านี้ไปประกอบอาหารได้ตามสบายเลย
11.หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป
อาหารสำเร็จรูปเป็นตัวเลือกที่สะดวกสบายก็จริง แต่ราคาอาหารเหล่านี้มักจะสูงกว่าอาหารสดทั่วไปรวมกันซะอีก แถมยังได้ในปริมาณที่น้อยเกินกว่าจะอิ่มท้อง ฉะนั้นพยายามคำนวณให้คุ้มค่า และถ้าไม่คุ้มก็อย่าซื้ออาหารสำเร็จรูปมากินเลยดีกว่านะคะ
12.ผลิตภัณฑ์ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตผลิตเองก็ไม่ได้แย่นะ
ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งได้ผลิตสินค้าบริโภคอุปโภคมาขายเอง โดยใช้ชื่อแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งก็มักจะมีราคาถูกกว่าสินค้าติดแบรนด์ดังทั่วไป แต่คุณภาพก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากันสักเท่าไร ฉะนั้นลองมองสินค้าแบรนด์ห้างไว้เป็นตัวเลือกในช่วงที่อยากประหยัดบ้างก็ดีนะ
13.ซื้อยกแพคถูกกว่า
แม้ว่าอาหารบางประเภทจะซื้อยกแพคแล้วไม่คุ้ม แต่ถึงอย่างนั้นก็มีของสดอีกหลายรายการที่ยิ่งซื้อมากราคาก็ยิ่งถูกลง โดยเฉพาะไข่ไก่, กระเทียม, ผัก และอื่น ๆ
14.ปรุงอาหารด้วยวัตถุดิบที่มี
เชื่อไหมคะว่าในตู้เย็นและตู้เก็บของแห้งในบ้านเรามีวัตถุดิบที่ถูกละเลยอยู่จำนวนมากเลยทีเดียว ซึ่งหากเคลียร์ตู้เย็นและตู้เก็บของออกมาลิสต์เป็นรายการอาหารละก็ บอกเลยว่าทำอาหารกินได้หลากเมนู กินยาว ๆ ได้หลายวันโดยไม่ต้องไปจ่ายตลาดเพิ่มเลยล่ะ
15.ทำอาหารรับประทานเอง
กินข้าวนอกบ้านยังไงก็แพงกว่าทำกับข้าวกินเองที่บ้านอยู่แล้ว ยิ่งกับครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกเยอะก็ยิ่งต้องจ่ายค่าอาหารมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้และเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของทุกคน มาเข้าครัวกันเถอะค่ะ
16.เก็บของเก่ามารีมิกซ์ใหม่
อาหารที่กินเหลือจากเมื่อวาน ถ้าสร้างสรรค์ดี ๆ ก็จะนำกลับมาปรุงเป็นเมนูใหม่ไว้กินในวันรุ่งขึ้นได้อีก อย่างเช่น นำข้าวที่เหลือ ผักสดที่ได้มาจากส้มตำจานเด็ด และไส้กรอกที่เจ้าตัวน้อยกินไม่หมดเมื่อเช้า มาปรุงเป็นข้าวผัดไส้กรอก หรือจะแค่เก็บอาหารเก่าไว้แล้วนำมาอุ่นกินใหม่ในมื้อถัดไปก็ได้
17.ชงกาแฟกินเอง
สำหรับคนที่ขาดกาแฟไม่ได้เด็ดขาด ต้องเสียเงินค่ากาแฟเป็นประจำทุกวัน ลองฝึกฝนฝีมือชงกาแฟของตัวเองดูสักหน่อยไหมคะ เผื่อได้รสชาติกาแฟที่ถูกใจแล้วจะได้ประหยัดค่ากาแฟไปได้อีก
[ads=center]
ใครที่ชักจะกังวลกับภาระเรื่องปากท้องที่นับวันจะยิ่งมากขึ้น ลองทำตามวิธีประหยัดค่ากินค่าอยู่ที่เรานำมาบอกต่อจะได้เซฟเงินในกระเป๋าไว้ทำอย่างอื่นได้อีกนะคะ
ที่มา http://money.kapook.com/view94347.html
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ