“พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา” บทความน่าอ่านที่สะท้อนว่าควรส่งเสริมเด็กไปในทิศทางใด





เรามักจะได้ยินเสมอว่า ให้ตั้งใจเรียน เรียนให้เก่งเข้าไว้ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน ทำมาหากินได้สบาย แต่เคยมีคำถามรึเปล่าว่า เราเรียนไปเพื่ออะไร? เรียนเก่งแล้วมีความสุขจริงหรือ? เรียนในสิ่งไม่ใช่ ที่เขาบอกว่าดี แล้วตกลงดีกับตัวเองรึเปล่า? ลองอ่านบทความจากเพจ อาจารย์วิทยา ถิฐาพันธ์  เรื่อง "พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา" เผื่อคุณจะคิดอะไรได้กับระบบการศึกษาและการเลี้ยงดูบุตรหลานในบ้านเรา (โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน เนื่องจากบทความนี้มีการเปรียบเทียบการศึกษาระหว่างไทยกับต่างประเทศด้วย)

 

11257729_1007105042709267_7008106818746756399_o

 

พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา
3 เมษายน พ.ศ. 2559 ผมและภรรยาเดินทางไปสนามบินสุวรรณภุมิเพื่อส่งลูกสาวคนโตกลับไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เคยไปส่งหลายครั้งแล้ว หวังว่าอีกไม่นานเราก็จะไม่ต้องพบกับสภาพ “พานพบเพื่อพลัดพราก จำใจจากเพื่อรอเจอ” กันอีกแล้ว
 

ผมมีลูกสาวสองคน ลูกคนโตของผมเป็นคนที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการเรียนในระบบของประเทศไทยสักเท่าไร เพราะผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์แค่เอาตัวรอดได้เท่านั้น ไม่เคยได้เกรด 4 ทุกวิชา ไม่ใช่นักเรียนชั้นแนวหน้าของห้องเรียน ยิ่งถ้าพูดลงลึกเข้าไปอีก ต้องบอกว่าพระเจ้าไม่ได้สร้างสมองมาเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้กับเธอเลย เพราะผลการเรียนทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เธอแย่มาก ทุกครั้งที่สอบวิชาเหล่านี้ พ่อแม่ต้องลุ้นระทึกเสมอ
 

แต่เพราะผมและภรรยาช่วยกันเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ไม่ฝากใครเลี้ยง ไม่มีพี่เลี้ยงเด็ก ผมดูลูกอย่างใกล้ชิดมาตลอด ผมสังเกตว่า ลูกสาวคนโตของผมเป็นคนช่างซัก ช่างถาม ช่างสงสัยตั้งแต่เด็ก เช่น ทำไมเราต้องเรียนเรื่องร้อยละ ทำไมเรียนแค่บวก ลบ คูณ หาร ไม่ได้หรือ ทำไมต้องเรียนเรื่องเลขยกกำลัง ทำไมต้องเรียนถอดสมการที่ยุ่งยาก ทำไมนิวตันต้องสร้างกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ที่ยุ่งยากและจับต้องไม่ได้ให้เธอเรียน แต่ทุกคำถามของเธอ ไม่เคยมีใครให้คำตอบที่ถูกใจเธอเลย ส่วนมากของคำตอบจากครูบาอาจารย์และสารพัดผู้รู้ในประเทศนี้ ก็คือ เรียนๆ ไปแล้วก็จะเห็นประโยชน์เอง
 

ผมมีความรู้สึกลึกๆ แต่ไม่กล้าบอกใครว่า ลูกสาวคนโตของผมน่าจะเป็นเด็กเก่งอยู่เหมือนกัน แต่ในแนวที่ไม่ค่อยจะเหมือนเด็กเก่งที่พบกันดาษดื่นในประเทศไทย และเชื่อว่าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในเมืองไทยดูลูกผมไม่ออก บอกไม่ได้ และหาโรงเรียนที่เหมาะกับลูกผมยาก
 

ภายหลังจบปริญญาตรีที่จุฬาฯ ผมเสนอเชิงขอร้องให้เธอไปเรียนปริญญาโทต่อที่ต่างประเทศจะในสาขาวิชาอะไรก็ได้ และในมหาวิทยาลัยอะไรก็ได้ โดยหวังเพียงให้เธอได้ไปเรียนรู้วิธีคิดที่ดีกว่าในบ้านเรา เธอตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Keio University ประเทศญี่ปุ่นในสาขา Innovative Design เพราะถูกจริตและมีเนื้อหาวิชาให้คิดสิ่งใหม่ๆ มากมาย
 

เกือบสองปีแล้วที่เธอไปอยู่ญี่ปุ่นกับการเรียนในแบบที่เธอชอบ คือ การมีโอกาสได้แสดงความคิด ความสามารถ ให้คนอื่นรับรู้ ไม่ต้องนั่งท่องจำ หรือทำข้อสอบประเภทต้องเลือกข้อที่ถูกตามความเห็นของคนออกข้อสอบ ผลการเรียนของเธอดีกว่าในเมืองไทยอย่างชัดเจน การมองชีวิต สังคม และโลก ของเธอเปลี่ยนไปมาก เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผลการเรียนของเธออยู่ในเกณฑ์ดีมากประมาณ 3.9-4.0 ทุกเทอม แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมฝันอยากได้ ที่อยากได้และผมได้แล้วก็คือ ลูกผมเข้าใจแล้วว่า ประเทศญี่ปุ่นมีความเจริญกว่าไทยในทุกด้านอย่างเทียบกันไม่ได้เลย และสิ่งสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็เพราะ “ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่เคยหยุดนิ่งทางความคิด” ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่เข้าใจเลยว่า “ความคิด” คืออะไร
 

ผมเคยคิดว่าลูกสาวผมเป็นข้าวพันธ์ไม่ค่อยดีปลูกขึ้นยาก แต่เมื่อเปลี่ยนให้ไปเรียนที่ญี่ปุ่นจึงทำให้ผมได้รับรู้ว่าผมเข้าใจผิดมาตลอด
 

“ลูกเป็นข้าวพันธุ์ดี แต่นาที่บ้านเมืองเราแห้งแล้งเกินไป เลยปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้น และนี่คือความจำเป็นที่ลูกต้องมาเรียนไกลบ้านซึ่งมีที่นาดีกว่าเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าข้าวของพ่อเป็นข้าวพันธุ์ดี ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่พ่อเคยฝังไว้ในความคิดและความจำมาตลอดเวลา ขอโทษนะลูก ”


_____________________________________________

ถ้าเรียนได้ เกรดสี่ วิถีไทย
ถ้ามุ่งมั่น ตั้งใจ ทำตามสอน
ถ้าเลียนแบบ ทำตาม ทุกขั้นตอน
จงว่านอน สอนง่าย ที่ไทยเทอญ

แต่ถ้าคุณ คิดแปลก และแตกต่าง
และมุ่งมั่น ทำอย่าง ที่ใฝ่ฝัน
อย่ารอช้า รีบมา ญี่ปุ่นพลัน
เพื่อรวมฝัน กับความจริง เป็นสิ่งเดียว


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เพจอาจารย์วิทยา ถิฐาพันธ์
เรียบเรียงใหม่โดย Thaijobsgov

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: