คลายสงสัย เรื่อง เอา Power Bank ขึ้นเครื่องบินได้ไหม??





ตอบกันแบบเคลียร์ๆ หากจะเอาแบตเตอรี่สำรอง หรือ Power Bank ขึ้นเครื่องบินไปด้วย ควรโหลดลงใต้เครื่อง หรือ ถือขึ้นเครื่องดี? แล้วแบตเตอรี่ก้อนใหญ่ หรือ เล็กขนาดไหนที่เขาอนุญาตให้เอาขึ้นเครื่องได้? แล้วเอาไปได้กี่ก้อน?

 
       
       ในยุคที่ทุกคนต่างก็ใช้สมาร์ทโฟน หนึ่งในปัญหาที่ทุกคนต่างประสบก็คือ “แบตเตอรี่หมดเร็ว!” นี่เองก็เป็นที่มาของหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา นั่นคือการประดิษฐ์คิดค้น แบตเตอรี่สำรอง หรือที่เรียกกันติดปากว่า พาวเวอร์แบงก์ (Power Bank) เมื่อเดินตามท้องตลาดจะเห็นได้ว่านับวันพาวเวอร์แบงก์จะมีขนาดใหญ่ขึ้นๆ ตั้งแต่ไม่กี่พันมิลลิแอมป์ (mAh) ไปจนถึงหลักหลายหมื่นมิลลิแอมป์ ซึ่งนี่เองเป็นที่มาของการออก กฏมาตรฐานความปลอดภัยของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาตา (IATA) เกี่ยวกับการนำแบตเตอรี่ขึ้นไปบนเครื่องบิน
       
       คืนวานนี้ (12 ก.ย.) แฟนเพจการบินไทย ได้โพสต์อินโฟกราฟิกเพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการนำแบตเตอรี่สำรอง หรือ Power Bank ขึ้นไปบนเครื่องบินโดยมีรายละเอียดดังนี้คือ
       
       • ห้ามนำ Power Bank ใส่กระเป๋าเดินทางโหลดใต้เครื่อง แต่ใส่กระเป๋าถือขึ้นเครื่องได้
       • Power Bank ที่ใส่กระเป๋าถือขึ้นเครื่องต้องมีขนาดความจุไฟฟ้าไม่เกิน 32,000 mAh
       • Power Bank ความจุไฟฟ้า 20,000 mAh (หรือน้อยกว่า 100 Wh) สามารถนำขึ้นเครื่องได้ (ไม่มีการระบุจำนวน)
       • Power Bank ความจุไฟฟ้า 20,000-32,000 mAh (หรือระหว่าง 100-160 Wh) นำขึ้นบนเครื่องได้ไม่เกิน 2 ก้อน
       • Power Bank ขนาดความจุไฟฟ้ามากกว่า 32,000 mAh (หรือมากกว่า 160 Wh) ไม่ได้รับอนุญาตให้นำขึ้นเครื่องในทุกกรณี
       
       ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2551 กระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ ระบุให้แบตเตอรี่ลิเธียมเป็นวัตถุอันตราย หลังจากก่อนหน้านั้นมีรายงานแบตเตอรี่ที่ทำงานจนเกิดความร้อนสูงเกินไป จนนำไปสู่การติดไฟ และระเบิด โดยการตรากฎขึ้นใหม่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่แบตเตอรี่จะเกิดการช็อต และติดไฟขณะที่อยู่บนเครื่องบิน ซึ่งจากการลองทดสอบโดยสำนักการบินแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่าระบบการควบคุมเพลิงในส่วนบรรทุกสัมภาระบนเครื่องบินไม่สามารถระงับไฟที่เกิดจากการระเบิดของแบตเตอรี่ลิเธียมแบบชาร์ตไฟที่อยู่รวมกันเป็นปริมาณมากๆ ได้ โดยจากการผลการทดสอบยืนยันว่าแม้ว่ามีไฟเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้แบตเตอรี่ลิเธียมไฟลุกได้ และส่วนพลาสติกที่เคลือบอยู่ภายนอกยังสามารถหลอมละลายได้อย่างง่ายดายซึ่งจะทำให้ลุกลามไปยังแบตเตอรี่ที่เก็บไว้รวมกันก่อให้เกิดไฟไหม้เป็นวงกว้าง แต่หากเป็นสถานการณ์ที่เกิดกับแบตเตอรี่ที่เก็บไว้ในกระเป๋าที่ผู้โดยสารนำติดตัวขึ้นเครื่อง ทางลูกเรือก็ยังพอจะสังเกตและเข้าระงับเหตุได้ง่ายกว่า 

ที่มา astv

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: