แรงงานมีฝีมือ 20 สาขา มีเฮ! รัฐบังคับนายจ้างเพิ่มค่าจ้างสูงสุด 700 บาท เริ่ม 10 ส.ค.นี้ หากฝ่าฝืน ไม่ทำตาม นายจ้างไม่จ่าย มีโทษคุก 6 เดือนปรับ 1 แสน
ภาพประกอบจาก www.saskatchewan.ca
5 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่กระทรวงแรงงาน มีการแถลงข่าวเปิด “ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 5)” ภายหลังกระทรวงแรงงานได้ประกาศแล้ว 35 สาขาอาชีพ และในวันที่ 10 ส.ค.นี้จะบังคับใช้อีก 20 สาขาอาชีพใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ยานยนต์ อัญมณี และกลุ่มลอจิสติกส์ โดยในกลุ่มเหล่านี้จะมีอัตราค่าจ้างตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไปจนถึงประมาณวันละ 700 บาท
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า “การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ” เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ส่งเสริมการพัฒนาทางอ้อมเช่นกัน เพราะการได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือจะเป็นเสมือนเส้นทางความก้าวหน้าในสาขาอาชีพ (Career Path) ของลูกจ้าง ตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ (Unskilled Labour) จนกระทั่งถึงระดับช่างฝีมือ (Skilled Labour) ทำให้คนทำงานมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน ส่งผลให้การผลิตสินค้าและบริการมีคุณภาพยิ่งขึ้น ลูกจ้างและนายจ้างได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ส่วนผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้รับประโยชน์จากการใช้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ และในที่สุดประโยชน์โดยรวมจะตกอยู่กับประเทศไทย โดยการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือจะส่งผลดี 4 ประการ คือ
1) ทำให้คนทำงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติใน 20 สาขาอาชีพ ทั้งระดับ 1 และ 2 มีค่าจ้างเหมาะสมเป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน ทำให้คนทำงานมีขวัญกำลังใจในการทำงาน
2) เป็นแรงจูงใจให้คนทำงานทั่วไปได้มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้น
3) ผู้ประกอบการสามารถคัดเลือกแรงงานที่มีฝีมือเข้าทำงาน ทำให้สินค้าและบริการมีคุณภาพได้มาตรฐาน ลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนผลิตเพราะไม่เกิดการผิดพลาดระหว่างการผลิต และสามารถรักษาบุคลากรที่มีฝีมือไว้ได้ด้วย
4) ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในสาขาอาชีพที่ขาดแคลน และรองรับการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
มีรายงานว่า คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) กำลังมีการพิจารณาอีก 12 สาขา เช่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ พลาสติก เป็นต้น เชื่อว่าการกำหนดดังกล่าวนายจ้างจะได้รับประโยชน์จากแรงงานที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ซึ่งทำให้สินค้าและบริการมีคุณภาพได้มาตรฐาน รวมถึงสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิตแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และสอดรับกับนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลด้วย ขณะที่ภาคแรงงานก็จะได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ
ทั้งนี้ หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามประกาศดังกล่าวจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับรายละเอียดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ แบ่งดังนี้
1. กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 4 สาขา ประกอบด้วย
พนักงานประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและแสงสว่าง
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 360 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 430 บาท
พนักงานประกอบมอเตอร์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 370 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 445 บาท
ช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกล
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 410 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 490 บาท
ช่างเทคนิคระบบรักษาความปลอดภัย
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท
2. กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ จำนวน 4 สาขา ประกอบด้วย
สาขาช่างกลึง
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท
ช่างเชื่อมมิก-แม็ก
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท
ช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกล
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท
ช่างเทคนิคเครื่องกลึงอัตโนมัติ
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท
3. ยานยนต์ ประกอบด้วย
ช่างเทคนิคพ่นสีตัวถัง
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท
ช่างเทคนิคพ่นซีลเลอร์ตัวถัง
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท
พนักงานประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์(ขั้นสุดท้าย)
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท
4.อัญมณี ประกอบด้วย
ช่างเจียรไนพลอย
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท
ช่างหล่อเครื่องประดับ
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท
ช่างตกแต่งเครื่องประดับ
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท
ช่างอัญมณีบนเครื่องประดับ
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท
5. ลอจิสติกส์ ประกอบด้วย
นักบริหารการขนส่งสินค้า
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 415 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 500 บาท
ผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 360 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 430 บาท
ผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 350 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 420 บาท
ผู้ปฎิบัติการคลังสินค้า
– ระดับ 1 ค่าจ้าง 340 บาท
– ระดับ 2 ค่าจ้าง 410 บาท
“ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 แรงงานจึงต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานฝีมือจะมากำกับเรื่องสมรรถนะ ที่จำเป็นส่วนที่ขาดก็ต้องมีการเติมเต็ม ซึ่งคนทำงานจะต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว
ข่าวจาก manager.co.th
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ