หนาวนี้ กินเผ็ด(พริก)เข้าไว้… ห่างไกลไข้หวัด
“พริก มีสรรพคุณบรรเทาอาการหวัด ช่วยละลายน้ำมูกและเสมหะให้จางลง ตลอดจนทำให้ร่างกายอุ่นขึ้น”
ความเผ็ดนี้มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ช่วยลดอาการปวด ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และช่วยละลายลิ่มเลือด ผลการวิจัยพบว่ามีการนำความเผ็ดร้อนมาใช้ประโยชน์ทางยาลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ คุณสมบัติเผ็ดร้อนนั้นมาจากสารที่มีชื่อว่า แคปไซซิน(Capsaicin)
สารแคปไซซิน พบได้ในพริกแทบทุกชนิดรวมทั้งในพริกไทยและขิง สารแคปไซซินพบในพริกขี้หนูสด ซึ่งจะอยู่ที่รกพริก (บริเวณที่เมล็ดพริกเกาะอยู่) และที่ ส่วนผนังด้านนอกและเมล็ดไม่มีสารนี้อยู่ ในปริมาณที่แตกต่างกันตามชนิดของพริก ในชีวิตประจำวันของคนไทย คนไทยรับประทานพริกเฉลี่ยแล้วคนละประมาณ 1 กิโลกรัม/ปี นอกจากประโยชน์ในด้านปรุงแต่งรสชาติของอาหารแล้วพริกยังมีประโยชน์ทางยา จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับมะเขือต่าง ๆ และมะเขือเทศ พริกที่พบมากในประเทศไทยได้แก่ พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู และ พริกขี้หนูสวน ซึ่งแต่ละชนิดก็แบ่งย่อยเป็นหลายพันธุ์
ทำไม เมื่อทานพริกจึงเผ็ดร้อน?
สารแคปไซซินออกฤทธิ์โดยทำให้เกิดการปลดปล่อยของสารตั้งต้นซึ่งเป็น สารสื่อประสาท ที่ส่งผ่านความรู้สึกปวดจากเซลล์ประสาทไปยังสมอง หลังได้รับสารแคปไซซิน ซ้ำ ๆ จะทำให้สารตั้งต้นหมดไป ทำให้อาการปวดลดลงสารแคปไซซินและความร้อนจะกระตุ้นเส้นประสาทรับความรู้สึก จะทำให้เกิดสัญญาณผ่านปมประสาทรากหลัง เข้าไปยังสมองทำให้เกิดความรู้สึกเผ็ดร้อน
กินพริกบรรเทาหวัด?
สารแคปไซซินในพริกช่วย บรรเทาอาการไข้หวัด ช่วยให้ระบบการหายใจสะดวกสบายทั้งยังช่วยลดน้ำมูกหรือละลายเสมหะที่เหนียวข้นให้จางลง ช่วยให้ขับเสมหะออกมาได้ง่าย ในผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด ไซนัส หรือโรคภูมิแพ้ต่างๆพริกจะช่วยทำให้หลอดลมขยายตัวได้ดี ไม่หดเกร็ง ช่วยบรรเทาอาการไอ สารแคปไซซินเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของตัวยาหลายๆ ชนิด นอกจากนั้นสารเบตาแคโรทีนในพริกช่วยป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ในบริเวณเนื้อเยื่อบุผนังช่องปาก จมูก ลำคอ และปอด ขณะเดียวกันยังทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น และความดันโลหิตลดลง ระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายสะดวกขึ้น
กินพริกอย่างไร ให้ได้คุณค่า?
เมื่อรับประทานพริก ในช่วงแรกควรรับประทานแต่น้อยและค่อย ๆ เพิ่มขนาดจะทำให้ทางเดินอาหารค่อย ๆ ปรับตัวรับความเผ็ดร้อนและความระคายเคืองของพริกโดยการเพิ่มการหลั่งสารเมือกและ สร้างเนื้อเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารและลำไส้เพิ่มขึ้น
เมื่อรับประทานพริกในรูปน้ำชา หรือรับประทานในรูปอาหารในตอนแรกจะทำให้เกิดความเผ็ดร้อนบริเวณริมฝีปากและในช่องปาก แต่ต่อมาจะทำให้รู้สึกว่าร่างกายอบอุ่นสบาย ซึ่งความเผ็ดร้อนนี้ทำให้ลดลงได้มากด้วยอาหารที่มีมะเขือเทศและอาหารที่มีเคซิน(casein) เช่น นม สำหรับผู้ที่มีความไวต่อพริกมาก เมื่อรับประทานพริกจำนวนมากโดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้น ไม่เพียงจะทำให้ริมฝีปากและช่องปากเผ็ดร้อนยังทำให้ระคายเคืองต่อทางเดินอาหารส่วนอื่นด้วย ผลการวิจัยเป็นจำนวนไม่น้อยพบว่าเมื่อรับประทานอย่างถูกวิธี พริกจะไม่ทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารหรือลำไส้แต่จะช่วยให้เกิดการสมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้อีกด้วย
โดยปกติแล้วขนาดรับประทานของพริกในผู้ใหญ่ ในรูปที่เป็นชาชงหรือรูปผงคือ 0.5-3 กรัม ในปัจจุบันมีพริกจำหน่ายในรูปสารสกัดจากพริกบรรจุเม็ดหรือแคปซูล ทั้งที่มีพริกอย่างเดียวหรือพริกรวมกับสมุนไพรอื่น ๆ เช่น ขิง กระเทียม เป็นต้น
เมื่อรับประทานในเครื่องปรุงของอาหารประเภทรสเผ็ด โดยไม่ต้องกินทุกมื้อ กินวันละมื้อ หรือ 2 วัน หนึ่งมื้อ ก็เพียงพอแล้ว ความเผ็ดร้อนนั้นนอกจากได้จากสารพัดพริกแล้ว ยังมีหอม กระเทียม พริกไทย ขิง ข่า ขมิ้น ตะไคร้ กระชาย ใบกะเพรา แมงลัก และอีกมากมาย แต่ละชนิดก็มีสรรพคุณแตกต่างกันไป
ข้อควรระวัง ในการกินพริก?
1.หากกินรสเผ็ดจัดเกินไป จะทำให้เป็นโรคกระเพาะและผนังกระเพาะอักเสบได้
2.เป็นการกระตุ้นให้เกิดกรดไหล ซึ่งเกิดจากร่างกายของเราไม่สามารถจัดการกับอาการรสจัด
3.ในคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอยู่แล้ว ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาหารรสเผ็ดจัด จะยิ่งทำให้กรดไปกัดแผลในกระเพาะอาหาร ส่วนเด็กและคนแก่ ที่สำลักง่าย ก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เพราะถ้าสำลักเข้าหลอดลม กรดอาจจะไปกัดหลอดลม ทำให้เกิดปัญหาหลอดลมหดเกร็ง ตีบ บวม หายใจไม่ออกได้
แหล่งอ้างอิง
- [online]https://www.gpo.or.th/rdi.html
- [online] http://hilight.kapook.com
- [online]http://www.foodnetworksolution.com/wiki
- [online]http://th.wikipedia.org/wiki
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ