การเป็นข้าราชการที่ดีจะต้องดํารงตนให้เหมาะสมและปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกําลังความสามารถ ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัย เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์แก่ทางราชการ ซึ่งผลของการประพฤติปฏิบัติดังกล่าวนอกจากราชการจะได้รับประโยชน์แล้ว ผู้นั้นก็จะได้รับการตอบแทนความดีความชอบไม่ว่าจะเป็นคําชมเชยหรือเลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือน ในทางกลับกันหากข้าราชการผู้ใดปฏิบัติงานไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ประพฤติปฏิบัติตามระเบียบวินัย ก็ย่อมจะส่งผลต่อการพิจารณาความดีความชอบหรืออาจถูกดําเนินการทางวินัยต่อไปได้
การ “อุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ” ถือเป็นข้อปฏิบัติประการหนึ่งของข้าราชการตามมาตรา 82 (5) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งกําหนดว่าต้องอุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการมิได้และหากข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติดังกล่าวผู้นั้นเป็นผู้กระทําผิดวินัยตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
อย่างไรก็ตามกรณีที่ข้าราชการมาทํางานสายเป็นอาจิณ แม้ว่าจะยังไม่ถูกดําเนินการทางวินัยแต่การประพฤติปฏิบัติตนดังกล่าวย่อมส่งผลต่อการพิจารณาความดีความชอบ เช่น การเลื่อนเงินเดือน
ดังเช่นคดีปกครองที่นํามาฝากกันในครั้งนี้เป็นกรณีของข้าราชการมาทํางานสายเกินกว่าเวลาที่ราชการกําหนด ซึ่งแม้ขณะเกิดข้อพิพาทในคดีนี้จะใช้บังคับตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน พ.ศ. 2544 ข้อ 7 (7) และกฎ ก.พ. ดังกล่าวได้ถูกยกเลิก โดยปัจจุบันได้ใช้บังคับตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน พ.ศ. 2552 ข้อ 8 (8) ซึ่งได้กําหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการมาทํางานไว้ในลักษณะเดียวกันว่าข้าราชการพลเรือนซึ่งจะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนจะต้องไม่มาทํางานสายเกินจํานวนครั้งที่ผู้บังคับบัญชาผู้มีอํานาจสั่งเลื่อนเงินเดือนหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายกําหนดเป็นหนังสือไว้ก่อนแล้วโดยคํานึงถึงลักษณะงานและสภาพท้องที่อันเป็นที่ตั้งของแต่ละส่วนราชการหรือหน่วยงาน
ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงสามารถนําไปใช้เป็นแนวทางการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการในปัจจุบันได้
ภาพประกอบจาก www.huffingtonpost.com
โดยคดีนี้นางสาวดาว (นามสมมติ) เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตําแหน่งพยาบาลวิชาชีพระดับชํานาญการ ปฏิบัติราชการในจังหวัดแห่งหนึ่ง มาทํางานสาย 60 กว่าวัน ซึ่งเกินกว่าที่ผู้อํานวยการโรงพยาบาลและปลัดกระทรวงสาธารณสุขกําหนดไว้คือในรอบการพิจารณาเงินเดือน ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2552 ให้ลาได้ไม่เกิน 10 ครั้ง และให้สายได้ไม่เกิน 18 ครั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นผู้มีอํานาจพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการในส่วนภูมิภาคจึงมีคําสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือน ทั้งๆ ที่นางสาวดาวมีสิทธิได้รับเลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งขั้น เนื่องจากได้รับผลการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานรวม 71.90 คะแนน
เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น นางสาวดาวจึงร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) พร้อมกับโต้แย้งว่าหลักฐานการมาทําสายที่นํามาอ้างไม่ถูกต้องและไม่เคยมีการแจ้งให้ตนชี้แจงเรื่องดังกล่าว อีกทั้งการพิจารณาไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนเพราะการมาทํางานสายก็ไม่ได้ให้โอกาสโต้แย้งในหลักฐานต่างๆ
หลังจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาคําร้องทุกข์และมีคําสั่งยกคําร้องทุกข์
นางสาวดาว จึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งเพิกถอนคําสั่งที่สั่งงดเลื่อนขั้นเงินเดือนและเพิกถอนคําวินิจฉัยร้องทุกข์
ในเรื่องนี้โรงพยาบาลซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของนางสาวดาวชี้แจงว่าแม้ผลการประเมินทําให้นางสาวดาวมีสิทธิได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งขั้น แต่เนื่องจากนางสาวดาวมาทํางานสายเกินกว่าจํานวนวันที่กําหนดไว้การที่จะเลื่อนขั้นเงินเดือนจึงขัดกับหลักเกณฑ์ที่กําหนดอีกทั้งหน่วยงานที่นางสาวดาวปฏิบัติงานอยู่ได้มีการประชุมถึง 3 ครั้ง เพื่อชี้แจงและตกลงร่วมกันของบุคลากรเกี่ยวกับการลงเวลาปฏิบัติงานและการมาทํางานสายโดยนางสาวดาวก็ได้เข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้งและได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลได้แจ้งให้นางสาวดาวทราบว่าไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนแล้ว
[ads]
ประเด็นปัญหาประการแรก คือก่อนออกคําสั่งงดเลื่อนขั้นเงินเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) จะต้องแจ้งให้นางสาวดาวทราบและให้โอกาสโต้แย้งข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐานก่อนออกคําสั่งดังกล่าวหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าคําสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นคําสั่งทางปกครองที่ไม่ต้องแจ้งให้คู่กรณีทราบข้อเท็จจริงหรือโต้แย้งก่อนการทําคําสั่งทางปกครองตามมาตรา 30 วรรคสอง (6) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และวรรคสอง (1) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติฯ ประกอบกับกฎ ก.พ. และหนังสือเวียนของสํานักงาน ก.พ.ที่เกี่ยวข้องก็มิได้กําหนดให้ต้องแจ้งผู้รับการประเมินซึ่งขาดคุณสมบัติเรื่องอื่น ๆเกี่ยวกับการเลื่อนเงินเดือนทราบแต่อย่างใด อีกทั้งหลักเกณฑ์การประเมินได้กําหนดไว้แล้วในแบบพิมพ์สําหรับใช้ประเมิน ซึ่งถือว่านางสาวดาวได้ทราบแล้วกรณีจึงไม่จําเป็นต้องแจ้งให้นางสาวดาวทราบเพื่อให้มีโอกาสโต้แย้งข้อเท็จจริงในพยานหลักฐานก่อนออกคําสั่งดังกล่าว
ประเด็นปัญหาประการต่อมา คือ การออกคําสั่งงดเลื่อนขั้นเงินเดือนนางสาวดาว เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงจากเครื่องบันทึกลงเวลาด้วยระบบคอมพิวเตอร์ตามที่โรงพยาบาลได้ประกาศกําหนดให้เจ้าหน้าที่เริ่มลงเวลาด้วยระบบดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550 เป็นต้นมานั้น พบว่าทั้งก่อนและในช่วงระยะเวลาการประเมินครั้งที่พิพาท นางสาวดาวมาทํางานสายหลายครั้งอีกทั้งในการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับเวลาการปฏิบัติงาน นางสาวดาวก็ได้เข้าร่วมประชุมและรับทราบทุกครั้ง นอกจากนี้ยังได้มีการรายงานพฤติกรรมและสอบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวด้วย จึงเชื่อได้ว่าในช่วงระยะเวลาการประเมินครั้งที่พิพาท นางสาวดาวมาทํางานสายรวม 61 ครั้ง จริง นางสาวดาวจึงไม่มีสิทธิได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนครั้งดังกล่าวการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกคําสั่งงดเลื่อนขั้นเงินเดือนนางสาวดาวจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่อ. 445/2558)
จากคดีนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสําหรับข้าราชการทุกคนว่าการที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนนั้น นอกจากจะมีผลการประเมินการปฏิบัติราชการอยู่ในระดับที่กฎหมายกําหนดแล้ว ยังจะต้องมีคุณสมบัติอย่างอื่นด้วย เช่น จะต้องไม่มาทํางานสายเกินจํานวนครั้งที่กําหนด เป็นต้น และการที่กฎหมายกําหนดข้อประพฤติปฏิบัติให้ข้าราชการอุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการนั้น เนื่องจากการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ กระทบต่อการพิจารณาความดีความชอบและอาจต้องถูกดําเนินการทางวินัยซึ่งกระทบต่อสถานะการดํารงตําแหน่งของข้าราชการแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบบริหารงานบุคคลในภาพรวมกระทบต่อประสิทธิภาพประสิทธิผลของงานราชการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ข้าราชการจึงต้องปฏิบัติราชการตามเวลาราชการอย่างเคร่งครัด และนอกจากนี้คดีนี้ยังเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีสําหรับผู้บังคับบัญชาที่จะใช้เป็นแนวทางการใช้ดุลพินิจในการเลื่อนขั้นเงินเดือน ซึ่งจะต้องพิจารณาทั้งการประเมินผลการปฏิบัติงานผู้ใต้บังคับบัญชา และคุณสมบัติอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกําหนด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของการบริหารงานบุคคลของระบบราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ส่องใต้ ฉบับเดือนมกราคม 2559 – ปักษ์หลัง
จัดทำโดยนางสาวสุนันทา ศรีเพ็ง พนักงานคดีปกครองชํานาญการ
กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร สํานักวิจัยและวิชาการ สํานักงานศาลปกครอง
เว็บไซต์ : thailocalmeet.com
[ads=center]
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ