เผยพยาบาลรัฐงานหนัก ทำงาน 37 เวร/คน/เดือน แถมพยาบาลชำนาญการจ่อลาออกเพียบหลังเกณฑ์ ก.พ. ให้ขึ้นชำนาญการพิเศษได้แต่ต้องยุบตำแหน่งว่าง ส่งผลเงินเดือนตัน ผอ.สำนักการพยาบาลชี้ ถ้ายังไม่แก้ปัญหา ไม่รู้จะระเบิดเมื่อไหร่ ระบุมาถึงจุดที่คนไข้คาดหวังกับพยาบาล ส่วนพยาบาลมีปัญหางานหนัก ค่าตอบแทนน้อย ไม่คุ้มค่า เกิดความเครียด ส่งผลขอลาออก
ภาพประกอบจาก www.nisit-zone.com
ดร.กาญจนา จันทร์ไทย ผู้อำนวยการสำนักการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ของวิชาชีพพยาบาลในขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก จากปัญหาการไม่มีตำแหน่งบรรจุเป็นข้าราชการสำหรับพยาบาลรุ่นใหม่ ขณะที่กลุ่มพยาบาลที่ทำงานมานาน ก็ประสบปัญหาไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งจากพยาบาลชำนาญการขึ้นเป็นชำนาญการพิเศษได้ ทำให้มีแนวโน้มการลาออกสูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลในปัจจุบันพบว่าจำนวนการเข้าเวรเฉลี่ยของพยาบาลในภาครัฐ สูงถึง 37 เวร/คน/เดือน มีวันหยุดเพียง 2-4 วัน ต่อเดือน จากเกณฑ์ปกติที่ควรอยู่ที่ 22 เวร/คน/เดือน มีวันหยุด 8 วัน และยิ่งมีการลาออกมาก คนที่เหลืออยู่ก็มีแนวโน้มที่จะลาออกตามมากขึ้น เนื่องจากต้องรับภาระงานที่หนักขึ้นไปอีก
[ads]
ดร.กาญจนา กล่าวว่า โครงสร้างอัตรากำลังของพยาบาลในสังกัด สธ.ปัจจุบัน มีพยาบาลที่เป็นข้าราชการประมาณ 9 หมื่นคน และพนักงานจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) อีก 1.2 แสนคน ซึ่งในส่วนของพยาบาลที่เป็นข้าราชการ กว่า 97% เป็นพยาบาลชำนาญการ โดยมีพยาบาลชำนาญการพิเศษ 3% และพยาบาลเชี่ยวชาญเพียง 0.01% เท่านั้น ซึ่งปัญหาก็คือกลุ่มพยาบาลชำนาญการ ซึ่งเมื่ออายุ 40 ปี เงินเดือนก็เริ่มตันแล้ว และโอกาสจะขึ้นเป็นพยาบาลชำนาญการพิเศษก็น้อยมาก
“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็พยายามคุยกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่าจะเอา 22% ขึ้นชำนาญการพิเศษได้ไหม เอา 2 หมื่นคนใน 9 หมื่นขึ้น ให้เขาได้หายใจได้บ้าง แต่พอเกณฑ์ในปี 2558 ออกมาคือให้ขยายเพดาน 22% ได้ แต่ต้องยุบตำแหน่งว่างด้วย พยาบาลก็หมดกำลังใจ ซึ่งน่ากลัวมากเพราะถ้าตันอยู่แบบนี้แล้วเขาจะอยู่ไปทำไม ตั้งแต่พอรู้ว่าจะต้องยุบตำแหน่งด้วย จำนวนการลาออกก็มากขึ้น ตอนนี้กำลังทำข้อมูลให้ผู้ที่ประสงค์จะลาออกแจ้งเข้ามา โดยจะสรุปข้อมูลเร็วๆ นี้ ซึ่งดูแนวโน้มแล้วก็คงมีจำนวนมาก” ดร.กาญจนา กล่าว
ขณะเดียวกัน ปัญหาในกลุ่มของพยาบาลรุ่นใหม่ ก็คือมีการบรรจุมาแล้ว 3 รอบ แต่ก็ยังเหลือค้างรอบรรจุอยู่อีกกว่า 2,042 คน แต่มีคนเกษียณปีละประมาณ 500 คน แถมยังโดนเรื่องยุบตำแหน่งอีก ดังนั้นกลุ่มนี้ก็คงไม่รอบรรจุแล้วเช่นกัน
“ถ้าดูในภาพรวมของประเทศ เราไม่ขาดคน ตัวเลขพยาบาลต่อประชากรอยู่ที่ 1:450 ซึ่งใกล้เคียงกับของ WHO ซึ่งแนะนำที่ 1:500 แต่เอาจริงๆ มันดูแค่นี้ไม่ได้ เพราะเป็นตัวเลขที่คิดจากจำนวนประชากรไทยเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าเมื่อเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็จะมีชาวต่างชาติเข้ามารับบริการมากขึ้นอีกเยอะมาก ประเด็นสำคัญคือเราเลี้ยงคนให้อยู่ในระบบไม่ได้ อย่างเรื่องการยุบตำแหน่ง ทำไม ก.พ.ไม่คำนึงถึงความจำเป็น” ดร.กาญจนา กล่าว
ผู้อำนวยการสำนักการพยาบาล กล่าวอีกว่า แนวทางแก้ปัญหา นอกจากขอให้ยกเลิกการยุบตำแหน่งว่างแล้ว ถ้าเลื่อนตำแหน่งไม่ได้ก็อย่าให้เงินเดือนตัน เช่น อาจทำแบบวิชาชีพครู ที่หากเงินเดือนตันแล้วสามารถเลื่อนไหลไปแท่งอื่นได้ อย่างน้อยยังพอมีกำลังใจ แต่ ก.พ. ก็บอกว่าถ้าจะทำแบบนี้ต้องแก้กฎหมายเยอะมาก
“ถ้าไม่แก้ปัญหาก็ไม่รู้ว่ามันจะระเบิดวันไหน ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป มันจะมาถึงจุดที่คนไข้ก็คาดหวังกับพยาบาล พยาบาลงานหนักแถมค่าตอบแทนต่ำไม่คุ้มค่าก็เครียด แล้วจะขอลาออกกันไปเรื่อย ทุกวันนี้ก็มีผลการวิจัยออกมาแล้วว่า พยาบาลเป็นวิชาชีพที่มีอัตราการเจ็บป่วย อัตราการบาดเจ็บ มีความเครียดและป่วยรุนแรงมากกว่าวิชาชีพอื่นๆ ”ดร.กาญจนา กล่าว
ข่าวจาก : hfocus.org
[ads=center]
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ