เป็นไอดอลของ “ผู้หญิง” หลายๆ คนไปแล้ว สำหรับ “2 ผู้หมวดหญิง” ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็น “นักบินหญิง” รุ่นแรกของ “ทัพฟ้า” กองทัพอากาศไทย สำหรับ หมวดพิซซ่า-เรืออากาศตรีหญิง ชลนิสา สุภาวรรณพงศ์ และ หมวดไอ-เรืออากาศตรีหญิง สิรีธร ลาวัณย์เสถียร
นับเป็น 79 ปี ของการเปลี่ยนวงการ “การบินทหารไทย”
หมวดพิซซ่า-เรืออากาศตรีหญิง ชลนิสา สุภาวรรณพงศ์ อายุ 25 ปี จบมัธยมสายศิลป์ภาษา โรงเรียนหอวัง จบปริญญาตรีคณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บอกว่า ชอบเครื่องบินมาตั้งแต่เด็ก และมีความฝันที่อยากทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องบิน
อีกแรงบันดาลใจที่ทำให้มุ่งมั่น มาจากที่ไปเสิร์ชข้อมูลในอินเตอร์เน็ตแล้วพบข้อมูลว่า “เรียนสายศิลป์ก็เป็นนักบินได้” อีกทั้งยังสามารถ “ศึกษาด้วยทุนส่วนตัวได้”
“หลายคนอาจจะบอกว่า การเป็นนักบินยาก แต่เราไม่ได้คิดแบบนั้นเลย เพียงแค่นึกถึงเป้าหมาย คิดถึงอนาคตข้างหน้า อยากทำงานในเครื่องบิน ถ้าละความพยายามก็ไม่สามารถอยู่ในนั้นได้ จึงไม่ทิ้งความฝัน เดินหน้าตามความฝันต่อไป”
เมื่อทุกอย่างลงล็อก เธอก็ลุยทันที สมัครเข้าเรียนที่สถาบันการบินพลเรือนหัวหิน หลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี (CPL) ประกอบด้วยการเรียนการบิน และขับเครื่องบินเก็บชั่วโมง 200 ชั่วโมง โดยใช้ทุนตัวเอง 2.3 ล้านบาท
“1 ปีที่เรียนที่นี่ต้องปรับตัวเยอะ ในรุ่นมีทั้งหมด 19 คน มีเราเป็นผู้หญิงคนเดียว แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรค เรามองว่าผู้หญิงผู้ชายทำได้เหมือนกันและเท่าเทียมกัน ซึ่งก็ทำการบ้านเยอะมาก อย่างเรื่องเครื่องยนต์ที่ไม่มีความรู้มาก่อน ก็ต้องตั้งใจเรียนสุดสุด อันไหนตามไม่ทันก็พยายามหาความรู้เพิ่มตลอด
เมื่อ “ด่านแรก” สำเร็จได้รับใบอนุญาต “นักบินพาณิชย์ตรี” ก็เป็นจังหวะที่กองทัพอากาศรับสมัคร “นักบินหญิงรุ่นแรก” หมวดพิซซ่าไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอย รีบกรอกใบสมัครและได้รับคัดเลือกเข้าฝึกเป็นนักบินหญิง หรือ Female Pilots รุ่นแรก ซึ่งต้องฝึกตามหลักสูตรที่กองทัพอากาศกำหนด อาทิ หลักสูตรนายทหารชั้นผู้บังคับหมวด ณ โรงเรียนนายทหารชั้นสูงผู้บังคับหมวด กรมยุทธศาสตร์ทหารอากาศ หลักสูตรเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ ณ สถาบันเวชศาสตร์การบิน หลักสูตรการฝึกยังชีพในป่าและโดดร่มรามาเซล ณ โรงเรียนการบิน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และหลักสูตรศิษย์การบินฝ่ายยุทธการ ฝูงบิน 604 กองบิน 6 รุ่น 1 ประกอบด้วย หลักสูตรภาควิชาการ 35 ชั่วโมง และหลักสูตรภาคอากาศ 41 ชั่วโมง
“ฝึกหนัก” เธอว่า
“ที่หนักที่สุด คือ วินัยทหาร เพราะทหารกับพลเรือนมีระเบียบคนละแบบ หรือการฝึกยังชีพในป่าก็ต้องใช้ความอดทนสูง เพราะต้องเรียนรู้การดำรงชีวิตในป่าให้อยู่รอดให้ได้ ฝึกโดดร่ม แต่ก็ตั้งใจทำเต็มที่ โดยเฉพาะตอนฝึกบินกับเครื่องซีที 4 รวมทั้งฝึกบินหมู่ บินผาดแผลง และบินโซโลเดียว”
ทั้งหมดทั้งมวลของความพยายาม ทำให้เธอมีวันนี้ วันที่ได้ประดับเครื่องหมายความสามารถทางการบิน “ปีกนักบินหญิง”
อีกหนึ่งสาว “หมวดไอ” สิรีธร ลาวัณย์เสถียร อายุ 24 ปี สาวคนนี้จบเกียรตินิยมอันดับ 1 คณะสถาบันการบิน สาขานักบินพาณิชย์ตรี มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า เป็นคนสนใจเรื่องพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก และชอบการขับขี่ เพราะคุณพ่อเป็นนักแข่งรถ ก็สอนให้ขี่รถมอเตอร์ไซค์เล็กเป็นตั้งแต่เด็กๆ เมื่อถึงจุดที่ต้องเลือกสายการเรียน เห็นว่าอาชีพนักบินรับผู้หญิงด้วย จึงมุ่งชีวิตมาเส้นทางนี้
“ไอเชื่อว่าถ้าเรียนในสิ่งที่ชอบเราจะทำได้ดี”
ตลอด 3 ปีครึ่งของการเรียนจึง “สนุกมาก” ยิ่งพอทำการบินได้ดีก็ยิ่งสนุก ซึ่งเธอถือเป็นคนแรกของรุ่นที่ได้ “บินเดี่ยว” คนแรก แต่ถึงอย่างนั้น หมวดไอก็ยืนยันว่า เธอมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่เพราะว่าเป็นคนเก่ง แต่ทุกอย่างมาจากความตั้งใจล้วนๆ
“ไอนั่งเรียนหน้าสุดตลอด อัดเสียงอาจารย์ทุกคลาส เพราะรู้ว่าไม่ใช่คนเก่งเลย ตอน ม.ปลายต้องเรียนพิเศษทุกวันเพื่อให้ทันเพื่อน เรียนมหาวิทยาลัย ก่อนสอบต้องเอาเสียงครูมาฟัง สรุป 3 ครั้ง ไอต้องขยันมากกว่าคนอื่น 2-3 เท่า เพราะเราไม่ได้มีความสามารถเหมือนคนอื่น ดังนั้นต้องขวนขวาย อย่างก่อนหน้านี้ไม่ชอบวิชาคณิตเลย แต่เรียนสายวิทย์ เพราะชอบวิทยาศาสตร์ จากไม่ชอบก็เปลี่ยนทัศนคติว่า เราสนใจ ก็กลายเป็นว่าเราทำได้ดี”
และคำว่า “ผู้หญิง” ก็ไม่ใช่อุปสรรคให้เธอหยุดตามความฝัน
“มีคำพูดของนักบินที่ว่า Lady’s hand, Eagle’s eye, Lion’s heart หมายถึง ต้องบินให้สมูธเหมือนมือผู้หญิง มีสายตาที่เฉียบไวเหมือนนกเหยี่ยว และมีหัวใจที่กล้าหาญ แข็งแกร่งเหมือนสิงโต ซึ่งเรามี Lady’s hand อยู่แล้ว ที่เหลือไอเชื่อว่าเราสร้างขึ้นได้ มันไม่ใช่อุปสรรคในการทำงานเลย”
หลังจากจบเกียรตินิยมอันดับ 1 หมวดไอเข้าทำงานในบริษัท Flight Experience ตำแหน่ง Instructor Pilot ก่อนจะมาเป็น “ลูกทัพฟ้า” ติดปีกนักบินหญิงกองทัพอากาศไทย
“การเป็นทหารเป็นอาชีพที่รับใช้ชาติ จะตั้งใจทำหน้าที่ข้าราชการทหารนักบินให้ดีที่สุด”
[ads]
ณ วันนี้ ทั้ง 2 ผู้หมวดหญิงเป็นนักบินประจำฝูงบิน 601 เครื่องบินลำเลียงซี 130 มีภารกิจลำเลียง ทิ้งร่ม ช่วยเหลือกู้ภัย ดับไฟป่า และฝึกรบร่วมกับต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ก่อนขึ้นปฏิบัติภารกิจเครื่องบินลำเลียงซี 130 ต้องมีการไปฝึกเครื่องบินซี 130 อีกระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้ได้ตามระเบียบมาตรฐานของการบิน และจะขึ้นปฏิบัติภารกิจแบบนักบินชายทุกประการ โดยช่วงต้นจะเป็นนักบินผู้ช่วยและขยับขึ้นเป็นนักบินที่หนึ่ง โดยเส้นทางจะเหมือนนักบินชายทุกประการ
เมื่อถามถึงอาชีพนักบินกับผู้หญิงบ้านเราเป็นอย่างไร หมวดไอบอกว่า ในประเทศไทย ผู้หญิงเป็นนักบินเยอะมาก ปัจจุบันมีกัปตันที่เป็นผู้หญิงแล้ว โดยที่แรกที่มีคือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส รุ่นแรกมี 5 คน ซึ่งแต่ละคนตอนนี้ก็อายุเยอะกันแล้ว
“อาชีพนักบินแพร่หลายในหมู่ผู้หญิงไทย ผู้หญิงบางคนมาจากการเป็นแอร์โฮสเตส ซึ่งมีมาเรียนเยอะมาก และผู้หญิงแต่ละคนทุกคนมีความมุ่งมั่นสูง เพราะทุกคนจะถูกคนมองว่าเป็นผู้หญิงจะทำได้ดีแค่ไหนกัน ทำให้ผู้หญิงที่อยู่จุดนี้มีความตั้งใจสูงว่า ฉันต้องทำได้เหมือนที่คุณทำได้ ผู้หญิงไม่มีอะไรแพ้คนอื่น อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะคิดยังไงมากกว่า”
สำหรับ “ผู้หญิง” ที่มีความฝันอยากเป็นนักบิน หมวดไอบอกว่า ถ้ามีความฝัน ไม่ควรดูถูกความฝันของคุณ ให้เดินตามเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่เก่ง แต่คุณสามารถทำให้ความฝันเป็นจริงได้ เพียงแค่มีความพยายาม ความอดทน ความขยัน ซึ่งสำคัญกว่าความรู้ เพราะถ้ามีความขยันในตัว ก็สามารถขวนขวายหาความรู้ได้
“มีคำพูดของนักบินที่ว่า เราจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต นั่นหมายความว่านักบินจะไม่หยุดนิ่ง อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนไป เราต้องทำตัวเราให้ตามทันยุคสมัยและสิ่งรอบกาย”
ข่าวจาก : matichon.co.th
[ads=center]
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ