ในหลวงทรงขับ”โซลูน่า”…พระมหากรุณาธิคุณช่วยพนง.โตโยต้า5,000ชีวิตรอดวิกฤตต้มยำกุ้งได้





พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นอกจากจะมีพระปรีชาสามารถในทุก ๆด้านแล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งที่คนในวงการ "อุตสาหกรรมยานยนต์" น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และสถิตอยู่ในใจคนโตโยต้าตราบนิจนิรันดร์

1386332847-1451607544-o

เรื่องนี้ นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เคยให้สัมภาษณ์สารสภาวิศวกรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2550 และนายวิเชียร เอมประเสริฐสุข ประธานบริหาร สำนักงานเขตภูมิภาคแม่น้ำโขง ให้สัมภาษณ์ในวาระครบ 50 ปีที่ทำธุรกิจในประเทศไทย

ผู้บริหารทั้งสองคนเล่าให้ฟังว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2540 มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า ทางโตโยต้าจะปิดโรงงานลอยแพ พนักงาน 5,500 คน ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง" ซึ่งกระทบภาพลักษณ์ของประเทศ และขวัญกำลังใจของพนักงานเป็นอย่างยิ่ง 

เช้าตรู่ของวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 เลขานุการส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โทรศัพท์ถึงนายนินนาทและแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์สั่งซื้อรถยนต์โตโยต้าโซลูน่า 1 คัน โดยให้พนักงานใช้มือทำก็ได้ ไม่ต้องใช้เครื่องจักร ไม่ต้องรีบ ทรงมีรับสั่งว่า พนักงานคนไทยจะได้มีงานทำนาน ๆ ประโยคนี้สร้างความปลื้มปีติยินดีแก่พนักงานโตโยต้าเป็นล้นพ้น

และเมื่อบริษัทนำรถคันดังกล่าวไปถวายพระองค์ในเดือนธันวาคมปี 2540 พระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นเช็คเงินสด 600,000 บาท ตอนนั้นโตโยต้าตั้งใจถวายและจะไม่รับ แต่พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งให้นำเงินนี้ไปจัดทำโครงการช่วยเหลือสังคมจึงเป็น ที่มาของ "โรงสีข้าวรัชมงคล" ที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา 

พระองค์ได้พระราชทานทุนทรัพย์จำนวน 600,000 บาท ในการซื้อรถยนต์ครั้งนี้ เป็นเงินขวัญถุงในการสร้างโรงสีข้าวรัชมงคล สร้างความปีติเหลือล้นให้กับพนักงานโตโยต้า ทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่น และกลายเป็นจุดกำเนิดโรงสีข้าวตามแนวพระราชดำริ ในนาม "บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด" ภายใต้วัตถุประสงค์ของแผนธุรกิจ คือ โรงสีข้าวแห่งนี้ "ไม่มีจุดประสงค์ในการค้ากำไร" แต่ต้องการช่วยเหลือชาวนาและแบ่งเบาภาระของประชาชนในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง

โตโยต้าจดทะเบียนตั้งบริษัท โรงสีข้าวรัชมงคล ด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถือหุ้น 12%

โรงสีข้าวรัชมงคลแห่งนี้ ตั้งอยู่บนปณิธานอันแน่วแน่ว่า จะดำเนินธุรกิจในลักษณะ "ซื้อข้าวเปลือกแพง ขายข้าวสารราคาถูก แต่ให้คุ้มทุนได้ภายใน 7 ปี" 

โตโยต้ามองว่า หากโตโยต้าทำเพื่อกินเอง ซื้อข้าวเปลือกช่วยเหลือชุมชน พอไปช่วยตรงนี้ยังมีข้าวสารให้พนักงานกิน 

"ผมและคุณนินนาทต้องเข้าไปเรียนรู้งานด้านโรงสีจริง ๆ จากหน่วยงานต่าง ๆซึ่งทุกคนแปลกใจว่า โตโยต้าจะเข้ามาทำอะไรกับโรงสีข้าว แต่เมื่อทุกคนรู้ว่า โตโยต้าตั้งใจจะทำงานเพื่อถวายในหลวง ทุกคนต่างปีติและยินดี ให้การต้อนรับอย่างโรงสีข้าวของเจริญโภคภัณฑ์เขาก็สอน พอคุณธนินท์รู้ว่าเป็นโครงการของในหลวงก็ให้การต้อนรับ และตอนนั้นเรายังได้ซื้อเครื่องสีข้าวซาตาเก้ ในราคาที่ค่อนข้างถูก ส่วนบริษัทก่อสร้างก็ใช้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างโอบายาชิ ครั้งนั้นทุกคนต่างระดมกำลัง แรงใจ เพื่อทำให้โครงการในพระราชดำริ โรงสีข้าวรัชมงคล สำเร็จด้วยดี"นายวิเชียรกล่าว

โตโยต้าตั้งใจให้โปรเจ็กต์ โรงสีข้าวรัชมงคล เป็น "ต้นแบบ" ของการดำเนินการเบื้องต้นโตโยต้าได้สร้างแผนธุรกิจศึกษาความรู้เกี่ยวกับการทำโรงสีข้าวจากหน่วย งานพี่เลี้ยง จนกระทั่งโรงสีข้าวรัชมงคลได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่9 ก.ย. 2542 ภายในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา

การเปิดดำเนินการช่วงแรก โรงสีข้าวรัชมงคลยังไม่ก่อให้เกิดกำไร และประสบกับภาวะขาดทุนต่อเนื่องสะสมมานาน แต่ด้วยความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริง ผสานกับกระบวนการเรียนรู้ที่จะปรับปรุงอยู่ต่อเนื่องและตลอดเวลาตามไคเซ็น ทีมงานได้ค่อย ๆ เรียนรู้ ปรับปรุงเพื่อให้ได้ข้าวสายพันธุ์ที่ดีที่สุด ด้วยกุศโลบาย ด้วยการจัดประกวดพันธุ์ข้าว ทำระบบ "การแลกพันธุ์ข้าว" เพื่อหาพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดในกลุ่มเกษตรกร เมื่อได้พันธุ์ข้าวที่ดีมาปลูก ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวข้าวคุณภาพ โดยให้นำมาขายที่โรงสีข้าวรัชมงคล โดยให้ราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 10-30% 

โตโยต้ายังได้ส่งเสริมให้ ชาวนาปลูกข้าว โดยใช้วิธีการปลูกแบบ "นาโยน" หรือการปลูกโดยโยนต้นกล้าลงไปในท้องนา แทนการปลูกแบบนาดำ ซึ่งโตโยต้าได้กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาหันมาปลูกข้าว

ด้วยวิธีดังกล่าว โดยสร้างความมั่นใจให้ชาวนาด้วยการ "ให้การประกันข้าวที่ปลูกด้วยวิธีโยนกล้าหากตายชดเชย" หรือหากผลผลิตที่ได้ไม่เท่านาดำ แต่ทางโรงสีข้าวรัชมงคลก็พร้อมจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกร ด้วยกุศโลบายที่แยบคาย เพื่อให้ชาวนาปลูกข้าวด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีในการปลูก และแน่นอนว่า โตโยต้าได้ทำองค์ความรู้ที่ตนเองถนัด คือ ระบบการผลิตในแบบฉบับของโตโยต้า หรือ TPS (TOYOTA Production System) มาใช้ในกระบวนการของการ "สีข้าว"

เพราะข้าวที่สีในโรงสีข้าวรัชมงคลแห่งนี้จะสีกันแบบวันต่อวัน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์หรือข้าวสารที่ออกจากโรงสีไปสู่มือผู้บริโภคมีความสดใหม่ หรือหากมีเก็บไว้นานที่สุด ต้องไม่เกิน 1 สัปดาห์ ข้าวเปลือกที่นำมาเก็บไว้ในยุ้งฉาง (สต๊อก) จะต้องไม่นานกว่านั้น และต้องมีการเขียนป้ายบอกสถานะ วัน เวลา ข้อมูลการจัดเก็บไว้อย่างชัดเจน ฉกเช่นเดียวกับกระบวนการผลิตรถยนต์ของโตโยต้า ที่เน้นความสดใหม่ของสินค้าสู่มือลูกค้าโดยตรง

วันนี้ โรงสีข้าวรัชมงคล ได้ก้าวผ่านจุดคุ้มทุนและสามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ใครจะเชื่อว่าโตโยต้าสามารถทำโรงสีข้าวที่มีฝุ่นละออง มาอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับโรงงานผลิตรถยนต์ที่มีความไฮเทคได้อย่างกลมกลืน

ที่สำคัญ โรงสีข้าวรัชมงคล ได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ การทำโรงสีข้าวต้นแบบของแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ให้กับประชาชนคนไทยทุกคน กลายเป็นศูนย์กลาง ต้นแบบของการทำเศรษฐกิจแบบพอเพียง การสาธิต การเกษตรแบบผสมผสาน และโรงสีข้าวรัชมงคลยังสามารถหยัดยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เป็นแหล่งรับซื้อผลิตผลของเกษตรกรในพื้นที่ และจัดจำหน่ายข้าวสารรัชมงคลในราคาสวัสดิการให้กับพนักงาน มีผู้ให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชมศึกษาแนวคิด วิธีการดำเนินงานของโรงสีข้าวรัชมงคล เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่เกษตรกร

การเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการของโรงสีข้าวรัชมงคล ถือเป็นโอกาสสำคัญที่โตโยต้าได้มีส่วนร่วมในการดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ดังคำกล่าวที่ว่า "ข้าวทุกคำจำจากคำพ่อสอน"


ข่าวจาก : prachachat.net

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: