นายกฯ งัด ม.44 ยกเลิกข้อบังคับที่ให้ รปภ.ทุกคนต้องจบ ม.3





๑๐ พ.ย.๕๙ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๗/๒๕๕๙ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธุรกิจรักษาความปลอดภัย มีรายละเอียดระบุว่า

img_5107

ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๘ ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนด หนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป ด้วยเหตุที่ต้องเตรียมการต่าง ๆ อันพึงต้องกระทําเพื่อให้การใช้บังคับกฎหมาย แก่พนักงานรักษาความปลอดภัยจํานวนหลายแสนคน และบริษัทรักษาความปลอดภัยจํานวนหลายพันแห่ง เป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น เนื่องจากการตราอนุบัญญัติและการกําหนดมาตรการรองรับตามที่
กฎหมายบัญญัติยังคงมีปัญหาขัดข้อง ทําให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นจํานวนมาก เพราะเหตุแห่งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของพนักงานรักษาความปลอดภัย ทั้งที่ประกอบอาชีพนี้อยู่แต่เดิมและที่จะเข้าสู่อาชีพนี้ในอนาคต แม้มีบทเฉพาะกาลยกเว้นหรือผ่อนผันไว้ให้แล้วในบางเรื่อง และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ก็ให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขข้อขัดข้องต่าง ๆ แต่ผลกระทบต่อความรับรู้ความเข้าใจและการปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์ใหม่ยังคงมีอยู่

นอกจากนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้ให้ข้อสังเกตและคําแนะนํามาหลายประการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลจึงได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาหารือแล้วมีความเห็นร่วมกันว่า แม้เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมุ่งจัดระเบียบธุรกิจรักษาความปลอดภัยให้ผู้ประกอบอาชีพนี้มีความพร้อมทั้งทางสมรรถนะ วุฒิภาวะ และทัศนคติ จะเป็นเรื่องที่ดีเพื่อให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้อื่น แต่จากเหตุขัดข้องในด้านความพร้อม การรับรู้ และความเข้าใจของผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยและพนักงานรักษาความปลอดภัย รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาจมีผลให้การใช้บังคับกฎหมายกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและประโยชน์สาธารณะได้ จึงจําเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๘ ในบางประการ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๓) ให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศกําหนดให้ผู้บัญชาการตํารวจนครบาลเป็นกรรมการและเลขานุการ และข้าราชการตํารวจยศพันตํารวจตรีขึ้นไปในกองบัญชาการตํารวจนครบาลซึ่งผู้บัญชาการตํารวจนครบาลแต่งตั้งจํานวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”

ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของ ก. ของมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจ รักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๓) สําเร็จการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับที่ใช้อยู่ในขณะที่สําเร็จการศึกษา” 

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๗๓ ผู้ใดประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต่อไป ให้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง ภายในสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคําขอแล้ว ให้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคําสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน”

ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗๔ ผู้ใดเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในสังกัดของผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง ภายในสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อยื่นคําขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ประกอบอาชีพต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคําสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน ทั้งนี้ มิให้นํามาตรา ๓๔ ก. (๓) และมาตรา ๓๔ ข. (๓) มาใช้บังคับกับบุคคลดังกล่าว”

ข้อ ๕ ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้

ข้อ ๖ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ


ข่าวจาก : prachachat.net
ภาพจาก : CAI.CO.TH

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: