29 มกราคม 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา สาระสำคัญระบุให้ยกเลิกพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเข้มงวดในการชำระคืนเงินกู้เพื่อการศึกษา หลังจากที่ผ่านมาประสบปัญหาผู้กู้ไม่ยอมใช้คืนคิดเป็นวงเงินมหาศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ในหมวด 4 การให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา มาตรา 42 ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงินโดยเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ในการบริหารกองทุนและการติดตามการชำระเงินคืนกองทุน ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ ดังนี้ (1) ให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน เพื่อให้ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร หักเงินได้พึงประเมินของตนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบเพื่อชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาคืนกองทุน (2) แจ้งสถานะการเป็นผู้กู้ยืมเงินต่อหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชนที่ตนทำงานด้วยภายใน 30 วันนับแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงาน และยินยอมให้หักเงินได้พึงประเมินของตนเพื่อดำเนินการตามมาตรา 51 (3) ยินยอมให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตนที่อยู่ในครอบครองของบุคคลอื่น รวมทั้งยินยอมให้กองทุนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนกองทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ในหมวด 5 มาตรา 44 เมื่อผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุน ตามจำนวน ระยะเวลา และวิธีการที่กองทุนแจ้งให้ทราบ ฯลฯ ผู้จัดการอาจผ่อนผันให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนกองทุนแตกต่างไปจากจำนวนระยะเวลา หรือวิธีการที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง หรือลดหย่อนหนี้ หรือระงับการชำระเงินคืนกองทุนตามที่ผู้กู้ยืมเงินร้องขอเป็นรายบุคคล หรือเป็นการทั่วไปก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 19 (11) ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินผู้ใดผิดนัดการชำระเงินคืนกองทุน และไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนผันตามวรรคสาม คณะกรรมการจะกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินต้องเสียเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อเดือนก็ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ทั้งนี้ ในมาตรา 45 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการบริหารกองทุนและการติดตามการชำระเงินคืนกองทุนให้กองทุนมีอำนาจดำเนินการ ดังนี้ (1) ขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืมเงินจากหน่วยงาน หรือองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน หรือบุคคลใดซึ่งเป็นผู้ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว (2) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนกองทุนของผู้กู้ยืมเงินให้แก่หน่วยงาน หรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน หรือบุคคลใดตามที่ร้องขอ (3) ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 19 (14) การดำเนินการตาม (1) และ (2) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา 46 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของกองทุนตามมาตรา 45 (1) ให้หน่วยงาน หรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน หรือบุคคลใดซึ่งเป็นผู้ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืมเงิน จัดส่งข้อมูล ให้กองทุนตามที่กองทุนร้องขอภายในเวลาอันสมควร นอกจากนี้ มาตรา 50 ระบุว่า หนี้ที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.นี้ ให้กองทุนมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของผู้กู้ยืมเงินในลำดับแรกถัดจากค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวันตามมาตรา 253 (4) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ผู้สื่อข่าวรายงาน่ว่า ในมาตรา 51 ระบุด้วยว่า ให้บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลทั้งภาครัฐ และเอกชน ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ โดยให้นำส่งกรมสรรพากรภายในกำหนดระยะเวลานำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดการหักเงินตามวรรคหนึ่ง ต้องหักให้กองทุนเป็นลำดับแรกถัดจากการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการหักเงินเข้ากองทุนที่ผู้กู้ยืมเงินต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม เมื่อกรมสรรพากรได้รับเงินจากผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นำส่งกองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
“ถ้าผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามวรรคหนึ่งไม่ได้หักเงินได้พึงประเมิน หัก และไม่ได้นำส่ง หรือนำส่งแต่ไม่ครบตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ หรือหัก และนำส่งเกินกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินรับผิดชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ และต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินยังไม่ได้นำส่ง หรือตามจำนวนที่ยังขาดไป แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ นับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดต้องนำส่งตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินได้หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินไว้แล้ว ให้ถือว่าผู้กู้ยืมเงินได้ชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาตามจำนวนที่ได้หักไว้แล้ว”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 ฉบับเดิมได้กำหนดในหมวด 5 การนำส่งเงินกองทุน มาตรา 53 เมื่อผู้กู้สำเร็จการศึกษา หรือเข้าทำงาน ต้องแจ้งที่อยู่ หรือสถานที่ทำงาน พร้อมทั้งเงินเดือนและค่าจ้างที่ได้รับให้กับผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมภายใน 30 วันนับจากวันที่เข้าทำงาน ให้เป็นหน้าที่ผู้บริหารและจัดการเงินกองทุนติดตาม และประสานกับผู้กู้ยืมเงินเพื่อการชำระเงินที่กู้คืน ในการนี้ จะขอความร่วมมือจากนายจ้างให้ช่วยหักเงินเดือนและค่าจ้างนำส่งผู้จัดการเงินให้กู้ยืมด้วยก็ได้ ซึ่งในส่วนนี้เป็นเพียงการขอความร่วมมือจากนายจ้างให้หักเงินเดือนผู้กู้ยืมเงินได้ แต่ตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ กำหนดให้เป็นกฎหมายที่นายจ้างต้องหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้กองทุน กยศ.ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว ถึงประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา เรื่อง พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ว่า ยังไม่ขอให้รายละเอียดในเรื่องดังกล่าวได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับทราบรายละเอียดของเนื้อหา พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่จะพิจารณาเรื่องนี้ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ และพร้อมชี้แจงหลักการและเหตุผลในประเด็นต่างๆ ในวันที่ 30 มกราคม
ข่าวจาก : หนังสือพิมพ์มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ