พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเปิดงาน การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้หมดไปเป็นวาระสำคัญของชาติ เพราะเกิดปัญหากับสังคมไทยมายาวนาน ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ และสร้างให้เกิดปัญหาสังคม เกิดจากการที่ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ดังนั้น จะต้องแก้ปัญหาหนี้นอกระบบแบบครบวงจร เพื่อคนไทยทั้งประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินโครงการต่างๆเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบมาตลอด เช่น การให้สินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล มาตรการเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานราก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากการแก้ไขหนี้นอกระบบแล้ว ต้องพิจารณาด้วยว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดหนี้นอกระบบขึ้น ไม่ให้คนเป็นหนี้ หรือลดหนี้ให้น้อยลง ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคืออยู่ที่ตัวเราเอง เรื่องการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การดื่มสุราเป็นประจำก็จะเป็นหนี้ ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะทำให้หนี้นอกระบบเป็นศูนย์คือ หมดสิ้นไป และมาอยู่ในระบบให้หมด และเข้าใจดีว่าคนปล่อยสินเชื่อนอกระบบก็คือ ธนาคารของคนจน แต่ก็ควรจะมาเข้าระบบที่ถูกต้อง จะมีความสุขมากขึ้น เพราะไม่ต้องไปคอยตามทวงหนี้อย่างผิดกฎหมาย และหลบๆซ่อนๆ ทำให้มีความไม่สบายใจ
“ผมให้ระยะเวลาช่วงหนึ่งที่จะให้เจ้าหนี้นอกระบบมาเข้าระบบตามกฎหมายให้ถูกต้อง จากนั้น จะกวาดล้างทั้งหมด เป็นสิ่งที่จะต้องทำ ใครที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมดภายในเวลา 2 ปี เจ้าหนี้นอกระบบราว 200,000 รายต้องจับให้หมด ซึ่งเจ้าหนี้นอกระบบหากเป็นตำรวจและทหารจะต้องถูกจับและดำเนินคดีทั้งหมด ถ้าอยากเป็นเจ้าหนี้เหมือนเดิมก็ต้องขึ้นทะเบียนเป็นพิโก ไฟแนนซ์ ถ้าไม่ทำตามนี้ก็ต้องติดคุก และถ้าพบว่ามีทหารรับจ้างทวงหนี้ก็ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที พวกนี้จะต้องถูกลงโทษ อย่าแสวงหาประโยชน์ตรงนี้กันอีกเลย รัฐบาลจะใช้ 3 แนวทางคือ จัดระเบียบเจ้าหนี้ สร้างวินัยการเงินให้ประชาชนและพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง จะทำให้หนี้นอกระบบเป็นศูนย์ได้”
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในครั้งนี้ จะได้ผลอย่างแท้จริง เนื่องจากการแก้ปัญหาครั้งนี้แตกต่างจากในอดีต เพราะมีการตั้งธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับหน้าที่ในการแก้หนี้นอกระบบโดยตรงประกอบกับมีกฎหมายหนี้นอกระบบที่มีโทษหนัก ซึ่งนายกรัฐมนตรีประกาศแล้วว่า จะเอาจริง ต่างจากเดิมที่โทษเกี่ยวกับหนี้นอกระบบและดอกเบี้ยโหด มีโทษไม่สูงนัก จึงไม่เกรงกลัวกัน นอกจากนี้ในแต่ละพื้นที่จังหวัด ยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้ ซึ่งรัฐบาลได้แก้ไขปัญหาเรื่องคณะกรรมการที่ไม่ค่อยอยากลงไปในพื้นที่ เพราะไม่มีเบี้ยประชุมเรียบร้อยแล้ว โดยในครั้งนี้รัฐบาลจะมีเบี้ยประชุมและประเมินผลการทำงานของอนุกรรมการเป็นระยะๆ
สำหรับผู้ประกอบการหนี้นอกระบบหลังจากนี้ รัฐบาลมีทางเลือกให้เพียง 3 ทางเท่านั้น คือ
1. ถ้าอยากปล่อยสินเชื่อให้คนที่ต้องการกู้เงินก็สามารถปล่อยเงินกู้ต่อไปได้ดังเดิม แต่ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี
2. ต้องผันตนเองมาเป็นนิติบุคคลและเข้ามาในระบบเพื่อทำพิโก ไฟแนนซ์ คิดอัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 36% ต่อปีและ
3. หากไม่ดำเนินการตามข้อ 1-2 ทางตำรวจ ทหารและผู้บังคับใช้กฎหมายจะเข้าไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งจะมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับเป็นเงินไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
ซึ่งล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้อนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการพิโก ไฟแนนซ์ 6 ราย จากที่ยื่นสมัครทั้งหมด 107 ราย
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการให้ดีขึ้นประมาณ 200,000 ราย โดยสามารถติดต่อยื่นลงทะเบียนได้ที่สาขาธนาคารออมสินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยธนาคารจะปล่อยสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกิน 0.85% ต่อเดือน หรือ 18.83% ต่อปี โดยใช้บุคคลค้ำประกันอย่างน้อย 1 คน และ/หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า การดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบของ ธ.ก.ส. ได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2547 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 300,000 ราย และโครงการนี้คาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วม 100,000-150,000 ราย
ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ